นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยแผนการดำเนินงานของ สอวช.ในปี 66 ว่า จะร่วมขับเคลื่อนใน 5 ทิศทางสำคัญ คือ
1.ยกระดับประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการปลดล็อกหน่วยงานภาครัฐและองค์การมหาชนให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง นอกจากนี้ ยังได้สร้างต้นแบบเครือข่ายที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจนวัตกรรมและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้
2.ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยใช้มาตรการบันไดเลื่อนเลื่อนสถานะประชากรฐานราก 1 ล้านคน ภายในปี 2570
3.ด้านความยั่งยืนในการลดก๊าซเรือนกระจก สอวช. ได้สร้างเมืองต้นแบบสระบุรี และ แม่เมาะ จ.ลำปาง ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
4.เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น 25% ภายในปี 2570 สามารถต่อยอดออกสู่อุตสาหกรรมและตลาดข้ามประเทศ
5.ปฏิรูประบบ อววน. ทั้งในเรื่องการทำ NQI System Alignment รวมถึงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง หรือมหาศิลปาลัย
ด้าน นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานจัดตั้งวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่
ซึ่งธัชภูมิจะเป็นกลุ่มของสถาบันความรู้และแพลตฟอร์มความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนสถาบันความรู้เฉพาะด้านต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับแผนงานวิจัยสำคัญที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วย บพท. เพื่อยกระดับแนวคิด ทฤษฎี สร้างชุดความรู้ที่สามารถส่งออกสู่สากล รวมถึงการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
โดยการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสถาบันความรู้ 5 สถาบัน ดังนี้ 1.สถาบันความรู้เพื่อจัดการทุนทางวัฒนธรรม 2.สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและผู้ประกอบการท้องถิ่น 3.สถาบันความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางสังคม 4.สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมืองและระเบียงเศรษฐกิจ และ 5.สถาบันความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองท้องถิ่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 66)
Tags: ก๊าซเรือนกระจก, กิติพงค์ พร้อมวงค์, สอวช., อววน.