ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระแรก ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 207 เสียง, ไม่เห็นด้วย 0 เสียง, งดออกเสียง 30 เสียง และไม่ออกเสียง 1 เสียง โดยให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 25 คน และกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน
ร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การแยกสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ (บัณฑิตวิทยาลัย) ออกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปสังกัดมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทำให้สถานะเปลี่ยนไปจากสถาบันอุดมศึกษาในกำกับดูแลของภาครัฐไปเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
โดยในระหว่างการอภิปราย ส.ส.พรรคก้าวไกล หลายรายอภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ที่จะโอนสถาบันแห่งนี้ที่ได้รับงบประมาณเฉลี่ยปีละ 5 พันล้านบาท รวมถึงสถานที่ตั้งเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ไปเป็นของภาคเอกชน โดยยังรับการสนับสนุนงบประมาณต่อไปแต่รัฐสภาไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้
ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เห็นด้วยกับที่จะมีการแยกภารกิจของบัณฑิตวิทยาลัยออกไป เพื่อให้การบริหารงานเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสถานการณ์ในปัจจุบัน
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ต้องขอบคุณสมาชิกทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยจะรับข้อเสนอแนะไปปรับปรุง ถึงแม้จะแยกสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ออกไปเพื่อศึกษาความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังมีการสอนคณะแพทย์ศาสตร์จนถึงระดับปริญญาเอกเช่นเดิม
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในระดับอุดมศึกษามีมานานแล้ว เช่น กรณีการตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการจัดสรรงบประมาณยังอยู่ในระดับเดิม แต่สามารถหารายได้และความร่วมมือจากต่างประเทศได้เพิ่มเติม ซึ่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เหมือนสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ส่วนกรณีที่มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินนั้นเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถทำเรื่องมาขอ อว.ได้ อีกทั้งที่ดินดังกล่าวเป็นของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ซื้อมาเอง จึงเป็นการโอนคืนกลับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 66)
Tags: บัณฑิตวิทยาลัย, พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัย, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สภาผู้แทนราษฎร