นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนของวุฒิสภา กล่าวว่า การประชุม กมธ.ในวันพรุ่งนี้จะพิจารณารายงานการปฏิรูปประเทศ และรายงานจากสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
โดยประเด็นการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี, มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ มาตรา 272 เกี่ยวกับยกเลิก ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยจะศึกษาในทุกประเด็นอย่างรอบด้านก่อนนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา
นายเสรี ยืนยันว่า ประเด็นศึกษาแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เจาะจงหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เป็นการศึกษาเพื่อนำผลมาสู่สาธารณะให้แสดงความเห็น ทั้งจากนักการเมืองและประชาชน ยังไม่ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้ เพราะกระบวนการแก้ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย มีขั้นตอนที่กำหนดไว้ทั้งเสียงวุฒิสภาเห็นชอบ 1 ใน 3 และเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 20%
“การจะแก้ให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปไม่ได้เลย พอเกิดประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นที่สนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่เรียนด้วยความเคารพไม่ได้เสนอเพื่อจะแก้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว และก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ไม่รู้พรรคไหนจะได้เสียง ส.ส.จำนวนเท่าไหร่” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแก้ไขได้ยาก หากต้องการแก้ให้สำเร็จทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยกันตกลงกัน สร้างความสามัคคีปรองดองในมวลหมู่การเมืองและประชาชน ไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากมีการพูดจาเสียดสีด่าทอให้ร้ายหรือเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลยสักประเด็นเดียว
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.นั้น นายเสรี เชื่อว่าคงจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน มองว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเป้าหมายในการหาเสียงของพรรคการเมือง ต้องการสร้างความด่างพร้อยให้วุฒิสภาและสร้างปัญหาให้รัฐบาล
หากนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นวาระ 8 ปีนายกฯ ไปเป็นนโยบายหาเสียง สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก เพราะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แม้นโยบายหาเสียงค่าแรง 600 บาทที่บอกว่าจะทำได้ในปี 2570 ก็ยังนำมาเสียงได้ อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรค
ไม่ห่วงว่า ส.ว.จะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์หาเสียงให้พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นการทำตามหน้าที่ เพราะการแก้ไขวาระ 8 ปีนายกฯ ทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ หาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ ก็สามารถเป็นได้ยาวเช่นกัน ก่อนหน้านี้กำหนดวาระ 8 ปีก็เพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่เมื่อใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ก็เห็นปัญหาว่าหากมีคนดีมีความสามารถมีความรู้และสามารถเป็นนายกฯ ต่อได้ก็ถูกจำกัดสิทธิตรงนี้ จึงเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
“คนก็คิดว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็หยิบยกขึ้นมาเล่นงานเขา เลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์จะได้ ส.ส.กี่คนก็ไม่รู้ จะไปกังวลทำไม ถ้ากังวลเท่ากับว่ากลัว หรือคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดเหรอ” นายเสรี กล่าว
ส่วนที่มีข่าว ส.ว.แบ่งฝ่าย มีทั้งฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่าย พล.อ.ประวิตร นั้น ส.ว.ชุดนี้มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใน คสช.มีผู้ใหญ่หลายคน ขณะนี้อาจมีความเห็นหลายกลุ่มหลายพวก แต่เชื่อว่าสุดท้าย ส.ว.ส่วนใหญ่ต้องเอาประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง การจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ หากพรรคการเมืองเสนอคนดีเข้ามาก็ต้องสนับสนุน แต่หากดูแล้วมีปัญหาสร้างความแตกแยก อยู่ในกลุ่มทุจริตคอรัปชั่น เล่นการเมืองไม่เห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง เชื่อว่า ส.ว.คงไม่เลือก และยังเชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะโหวตไปในทางทิศทางเดียวกัน
สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เพราะเมื่อแยกพรรคแล้วก็ต้องแข่งกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเอาฝ่ายการเมืองของแต่ละพื้นที่มาอยู่ที่พรรคตนเองได้มากน้อยแค่ไหน
“คนเก่งอย่างไร คนดีอย่างไร ถ้าไม่มีหัวคะแนน ไม่มีพรรคไม่มีพวก ไม่เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อน ก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ดังนั้นเมื่อแยกกันเดินแล้ว แต่ละคนก็ต้องหาคนที่มีคะแนนเสียงมาอยู่กับพรรคของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่ามากน้อยแค่ไหน และวิธีไหน นั่นคือคำตอบว่าพรรคไหนได้คะแนนมากแค่ไหน” นายเสรี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 66)
Tags: การเมือง, ประชุมกมธ., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วุฒิสภา, หาเสียง, เสรี สุวรรณภานนท์, แก้ไขรัฐธรรมนูญ