ZoomIn: เต็มคาราเบลแน่ปีนี้!! 160 หุ้น IPO วิ่งแข่งสร้างสีสัน-ดึงเม็ดเงินใหม่

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 65 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ส่งแบบสำรวจไปยังที่ปรึกษาทางการเงินทุกแห่งเพื่อสอบถามโอกาสการส่งบริษัทลูกค้าในมือยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปรากฎว่ามีผู้แจ้งจำนวนเข้ามามากถึงกว่า 160 บริษัท จาก FA กว่า 30 ราย หรือถ้าคิดเฉลี่ยแต่ละเดือนหากสามารถยื่นไฟลิ่งและเข้าตลาดได้ทันปีนี้จะมีหุ้น IPO เข้าเทรดถึงเดือนละกว่า 10 ตัว

แต่จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร?

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ในปี 66 เป็นปีที่จะเห็นการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากกว่าปกติ เนื่องจากยังสามารถใช้หลักเกณฑ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องงบการเงิน ก่อนไปเปลี่ยนใช้เกณฑ์ใหม่ในปี 67 ซึ่งจะช่วยสร้างความคึกตักให้กับตลาดอย่างแน่นอน และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น

“บริษัทที่จะเข้าตลาด รวมถึง FA ต่างๆก็ทราบเรื่องดังกล่าวและเตรียมความพร้อมมา 3 ปีแล้ว ทำให้การทำงานเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้ IPO ปีนี้คึกคักมากขึ้น และช่วยทำให้ตลาดมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย” นายสมภพ กล่าว

นายสมภพ เชื่อว่าแม้จะมี IPO จำนวนมาก แต่ความสนใจของหุ้น IPO ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องแน่นอน

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ในปี 66 ถือเป็นปีที่จะเห็นการนำบริษัทเสนอขายหุ้น IPO และเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทที่พร้อมต้องเร่งเข้าตลาดก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลในปี 67 ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น ถ้าต้องปรับตามเกณฑ์ใหม่อาจทำให้การเข้าตลาดฯ ต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องปรับแก้ข้อมูลบางส่วนเพื่อเป็นไปตามเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะการนำส่งงบการเงินฉบับเต็มตามมาตรฐานบัญชีใหม่ย้อนหลังทั้ง 3 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ย้อนหลังเพียง 1 ปี

“เกณฑ์ยื่น IPO ใหม่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า ทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กต้องเร่งเข้าระดมทุน ไม่งั้นมีหลายบริษัทที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อเตรียมความพร้อมใหม่ในการเข้าตลาด”แหล่งข่าว กล่าว

แม้ว่าปีนี้จะมีจำนวน IPO เข้ามามาก แต่ก็จะส่งผลดีในแง่ทางเลือกของนักลงทุนที่จะมีบริษัทหลากหลาย หรือเรียกว่ามีสินค้าในตลาดให้เลือกเพิ่มขึ้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดหุ้นก็ถือว่ายังเพียงพอรับการระดมทุนที่เข้ามามาก และ IPO ถือว่ายังเป็นเทรนด์ที่นักลงทุนต่างติดตาม เป็นขวัญใจนักลงทุน และสร้างผลตอบแทนได้ดี

แต่ด้วยความที่มีจำนวนหุ้น IPO ค่อนข้างมากการจะคาดหวังให้ราคาหุ้นน้องใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 100-200% เหมือนในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นจะมีความน่าสนใจหรือโดดเด่นมากๆ หรือไม่ และก็มีโอกาสที่หุ้นใหม่ที่เข้ามาอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง

ส่วนแหล่งข่าวจาก บล.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ กล่าวว่า ภาพของบริษัทจดทะเบียนที่เตรียมเดินหน้าเสนอขาย IPO เป็นจำนวนมากในปี 66 ก็ยังขึ้นกับความพร้อมของแต่ละบริษัทเป็นหลัก แม้จะต้องการเร่งขาย IPO และเข้าตลาดได้ให้ได้ตามเกณฑ์เดิม

สำหรับเกณฑ์ใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนในปีหน้าอาจจะทำให้บริษัทต้องใช้ระยะเวลาในการทำงบบัญชี 3 ปี ตามาตรฐานบัญชีใหม่ที่นานขึ้น ส่งผลต่อระยะเวลาในการเข้าระดมทุนของบริษัทที่จะล่าช้าออกไป บางบริษัทอาจจะไม่สามารถระดมทุนได้ตามระยะเวลาเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่จะเข้ามาระดมุทนในตลาดหลักทรัพย์ แต่บริษัทขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว เพราะมีการจัดทำบัญชีที่เป็นระบบมาตรฐานอยู่แล้ว

การมีจำนวน IPO เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯมากในปี 66 ถือว่าทำให้ตลาดหุ้นไทยมีตัวเลือกในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะมีบริษัทที่หลากหลายเข้ามาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน แต่ก็ต้องดูความน่าสนใจของกลุ่มอุตสาหกรรมของหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาด้วยเช่นกันว่าจะกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมใด และมีธุรกิจที่เป็นเทรนด์ใหม่เข้ามาหรือไม่ เพราะอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนภาพเป็นกลุ่มธุรกิจสมัยใหม่จากปัจจุบันที่ยังมีหุ้นที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่

ส่วนด้านสภาพคล่องหุ้น IPO ถือเป็นตัวที่เพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด จากที่มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ดึงดูดเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด ขณะที่นักลงทุนที่อยู่ตลาดแล้วก็ยังมีความสนใจและมีความพร้อมที่จะลงทุนในหุ้น IPO ตัวใหม่ ๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากหุ้น IPO แต่ในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับก็ขึ้นอยู่กับความโดดเด่นของธุรกิจนั้นๆ แต่ในภาพรวมการที่มี IPO เข้ามามากก็สะท้อนให้เกิดความคึกคักในตลาด IPO ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top