In Focus: จีนโบกมือลา “โควิดเป็นศูนย์” ฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ไทยเป็นจุดหมายสำคัญ

หลังจากใช้นโยบายคุมเข้มโควิด-19 อย่างเข้มงวดมาตลอดระยะเวลา 3 ปี สุดท้ายจีนก็ได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการรับมือโควิดไปสู่แนวทางการอยู่ร่วมกับโรคเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการบอกลานโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ในที่สุด

* ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่

การเปลี่ยนแปลงสำคัญในครั้งนี้คือ จีนได้เปิดรับนักเดินทางทั้งขาเข้าและขาออก ทั้งยังเปิดโอกาสให้พลเมืองจีนทำหนังสือเดินทางและขอวีซ่าเพื่อเดินทางทำธุรกิจและท่องเที่ยว รวมถึงกลับมาเปิดด่านชายแดนเพื่อการขนส่งสินค้าอีกครั้ง พร้อมกันนี้ จีนได้ยกเลิกมาตรการกักตัวและตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางถึงจีน รวมถึงยกเลิกการฆ่าเชื้อเชิงป้องกันกับสินค้านำเข้าและยกเลิกการสุ่มตรวจอาหารในห่วงโซ่แบบควบคุมอุณหภูมิ

นอกจากนี้ จีนได้ประกาศลดระดับการจัดการโรคโควิด-19 จากที่เคยใช้มาตรการต่อต้านโรคติดเชื้อระดับเอ (Class A) ลดลงเป็นระดับบี (Class B) หลังจากที่กว่า 90% ของประชากรทั้งหมด 1.4 พันล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว ขณะที่ไวรัสเองก็มีความรุนแรงลดลง และจีนจะไม่บังคับใช้มาตรการกักตัวหรือปูพรมตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกต่อไป ทั้งยังยกเลิกแนวปฏิบัติในการระบุผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและต่ำด้วย

* เศรษฐกิจฟื้นตัว

การที่จีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเชื่อว่าต้องอาศัยเวลาสักระยะกว่าที่ผู้บริโภคชาวจีนจะเริ่มกลับมาใช้จ่ายอย่างเต็มที่อีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดหวังว่ายอดค้าปลีกในปี 2566 จะกลับมาสู่ระดับเดียวกับไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่เซี่ยงไฮ้จะตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ไม่นาน

สถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) ของจีนระบุว่า จีนอาจเผชิญกับความท้าทายบางประการในส่วนของยอดค้าปลีกและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงแรก ๆ ของการลดระดับการจัดการโควิด-19 โดยการยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิดไม่ได้หมายความว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในทันที นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังหมายความว่าประชาชนต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่จะสามารถกลับไปใช้บริการในร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ ได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของตลาดการบริโภคของจีนแล้ว โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิด-19 จำนวนคนเข้าโรงภาพยนตร์บางส่วนในกรุงปักกิ่งกลับมาอยู่ที่ 75% ของระดับปกติ และบรรดาร้านอาหารยอดนิยมมีลูกค้าเข้าร้านมากกว่า 80% แล้ว

ในขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.6% ต่อปี ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ถึงไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ส่วนตัวเลขของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ 1.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น มี GDP ขยายตัวต่ำกว่า 0.5% จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศจีนเช่นกัน โดยเศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มพลิกกลับมาเติบโตในปีนี้ หลังจากเผชิญภาวะหดตัวในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2562 และเศรษฐกิจฮ่องกงอาจขยายตัวแข็งแกร่งกว่าสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษ นอกจากนี้ การที่จีนเปิดประเทศยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ เช่นกัน โดยนายทอม เคนเนดี นักวิเคราะห์ด้านการลงทุนของบริษัทเจพีมอร์แกน คาดการณ์ว่า การเปิดประเทศของจีนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของออสเตรเลียในอัตราส่วน 1% เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของภาคการท่องเที่ยวและภาคการศึกษาของออสเตรเลีย ซึ่งการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบของภาคการท่องเที่ยวออสเตรเลียจะช่วยหนุน GDP ในอัตราส่วน 0.5% และการกลับมาของนักศึกษาจากจีนจะเป็นปัจจัยหนุนตัวเลข GDP ของออสเตรเลียในอัตราส่วน 0.4% ซึ่งนับรวมกันแล้วคิดเป็นอัตราส่วนเกือบ 1%

* การเดินทางคึกคัก

จีนเปิดพรมแดนต้อนรับฤดูการเดินทางในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลา 40 วันที่ชาวจีนจำนวนมหาศาลเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวและเพื่อนฝูง เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 7 ม.ค. โดยคาดว่าจำนวนการเดินทางทั้งทางรถ รถไฟ เรือ และเครื่องบินในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้อาจสูงถึง 2.1 พันล้านครั้ง เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 1.05 พันล้านครั้งในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าจำนวนเที่ยวบินโดยสารรายวันเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 11,000 เที่ยวระหว่างฤดูการเดินทางตรุษจีน หรือประมาณ 73% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 ด้านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) คาดหวังว่าปริมาณผู้โดยสารเครื่องบินในปี 2566 จะเพิ่มถึงประมาณ 75% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด จากระดับ 38% ในปีที่แล้ว

การเปิดพรมแดนจีน-ฮ่องกงเป็นไปอย่างคึกคักหลังปิดไปนานถึง 3 ปี โดยชาวฮ่องกงราว 250,000 รายได้ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วง 5 ชั่วโมงแรกหลังจากเว็บไซต์เปิดให้ลงทะเบียนในช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ 5 ม.ค. ขณะที่ฮ่องกงจำกัดเพดานผู้ที่เดินทางผ่านพรมแดนเอาไว้ที่วันละ 60,000 คนเท่านั้น โดยวันที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดพรมแดนวันแรก และวันเสาร์ที่ 21 ม.ค. หรือหนึ่งวันก่อนวันตรุษจีน

ซีทริป (Ctrip) บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ของจีน เปิดเผยว่า ภายในครึ่งชั่วโมงหลังจีนประกาศนโยบายกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง การค้นหาจุดหมายปลายทางในต่างประเทศก็พุ่งขึ้นถึง 1,000% แตะระดับสูงสุดในรอบสามปี ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับประโยชน์จากการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีนในระลอกนี้ โดยสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน

ส่วนการเดินทางขาเข้านั้น สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานว่า ยอดการเดินทางของผู้โดยสารขาเข้าประเทศแตะ 251,045 ครั้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค. ซึ่งเป็นวันแรกหลังการปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือโควิด-19 ครั้งใหญ่ของจีน โดยจีนรองรับเรือขาเข้า 396 ลำ เที่ยวบินขาเข้า 325 เที่ยว รถบรรทุกขาเข้า 6,323 คัน และรถไฟขาเข้า 83 ขบวน ในวันดังกล่าว

* โลกเตรียมรับคลื่นนักท่องเที่ยวจีน

ชาวจีนจำนวนมหาศาลต่างวางแผนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศหลังจีนเปิดประเทศอีกครั้ง ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความกังวลเพราะตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในจีนยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือโควิด หลายประเทศมีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางกับนักท่องเที่ยวจีน เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย อิตาลี ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ล่าสุดจีนได้ประกาศระงับการออกวีซ่าแก่ผู้ที่เดินทางจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อตอบโต้ต่อการที่ทั้งสองประเทศออกมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดต่อผู้ที่เดินทางจากจีน หลังจากที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะยกระดับมาตรการควบคุมโควิดให้เข้มงวดมากขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางจากจีน โดยผู้ที่เดินทางมาจากจีนจะต้องแสดงผลตรวจเชื้อโควิดเป็นลบก่อนที่จะเดินทางมายังญี่ปุ่น และจะต้องทำการตรวจแบบ RT-PCR ขณะเดินทางถึงญี่ปุ่น ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้ออกข้อกำหนดก่อนหน้านี้ว่า ผู้ที่เดินทางจากจีนทั้งหมดจะต้องถูกตรวจหาเชื้อโควิดภายในสิ้นเดือนก.พ. และเกาหลีใต้จะจำกัดการออกวีซ่าระยะสั้นแก่ผู้ที่เดินทางจากจีนจนถึงสิ้นเดือนม.ค.

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ความไม่พอใจที่บางประเทศเลือกปฏิบัติโดยการออกมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดต่อผู้ที่เดินทางจากจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหันมาเลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทาง โดยนายชอน เรน กรรมการผู้จัดการบริษัท ไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป (China Market Research Group) เปิดเผยว่า “นักท่องเที่ยวชาวจีนโกรธเกาหลีใต้มาก และโกรธญี่ปุ่นมากยิ่งกว่า ที่ออกกฎซึ่งเชื่อว่าเจาะจงมาที่พวกเขาเท่านั้น” และ “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตรวจโควิด แต่เป็นเพราะนโยบายเหล่านี้พุ่งเป้ามาที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนกำลังมุ่งหน้าสู่ประเทศไทยและสิงคโปร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศยินดีต้อนรับเรา”

ข้อมูลจากทริปดอทคอม กรุ๊ป (Trip.com Group) ระบุว่า ไทยติดอันดับ 1 ของประเทศที่ได้รับการค้นหาข้อมูลมากที่สุดจากนักท่องเที่ยวของจีนในระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 2566 โดยมีผู้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 176%

ทั้งนี้ เฮลธ์ ไทม์ส สื่อสิ่งพิมพ์ในเครือหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานว่า หลายพื้นที่ของจีนได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มลดลงแล้วในกรุงปักกิ่งและอีกหลายมณฑลของจีน ด้านนายแลร์รี หู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจากแมคควอรี (Macquarie) เปิดเผยว่า ข้อมูลการใช้รถไฟใต้ดินและถนนแสดงให้เห็นว่า การจราจรในหลายเมืองใหญ่กำลังฟื้นตัว ซึ่งบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดระลอกล่าสุดได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และจีนมีแนวโน้มที่จะสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top