พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ออกมาเตือนภัยเว็บไซต์ธนาคารปลอมหลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล หรือขอเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถาบันการเงิน หรือธนาคาร สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงระบบได้ทุกที่ทุกเวลา
ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ปลอมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนที่ไม่ทันระวัง เข้ามากรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต/เครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็น การนำข้อมูลที่ได้ไปถอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชี หรือไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าสินค้า หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น กรณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ขอรายการเดินบัญชีผ่านเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ แต่ได้ไปเข้าเว็บไซต์ธนาคารที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาโดยการซื้อการโฆษณา จากนั้นได้กรอกข้อมูลทางการเงินต่างๆ กระทั่งทราบว่าเงินในบัญชีธนาคารของตนถูกโอนออกไปทั้งหมด
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะเปลี่ยนเพียงแค่ชื่อธนาคารหรือชื่อหน่วยงาน แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นการใช้งานหรือเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ โดยมีวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงเอาข้อมูล พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม
2.เพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือ URL อย่างละเอียด
3.หากต้องการขอข้อมูล ควรขอผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารจะมีความปลอดภัยมากกว่า
4.ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ไม่ทราบแหล่งที่มา เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ
5.ควรกรอกข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังธนาคาร หรือหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
6.หากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวแล้ว ให้รีบทำการเปลี่ยนรหัสผ่านทันที ทั้งเว็บไซต์ธนาคารจริง อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
7.ติดตั้ง และหมั่นอัพเดทโปรแกรม Anti-Virus อยู่เสมอ
8.แจ้งเตือน และเผยแพร่ไปยังคนใกล้ตัว หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 66)
Tags: กฤษณะ พัฒนเจริญ, บช.สอท., มิจฉาชีพ, อาชญากรรมทางเทคโนโลยี