แฟลช กรุ๊ป ยูนิคอร์นรายแรกของไทย ปิดดีลระดมทุนครั้งใหญ่ 1.5 หมื่นล้านบาทรอบซีรีย์ F ปลายปี 65 ตุนเงินลุยลงทุนขยายอาณาจักรทั้งในประเทศและต่างประเทศ พลิกฟื้นธุรกิจช่วง 2-3 ปีจากนี้ หลังเลื่อนแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปอย่างน้อยอีก 3 ปี พร้อมเปิดกว้างเพิ่มโอกาสเข้าตลาดหุ้นต่างประเทศ จับมือ Tiltok ดันธุรกิจโมเดลใหม่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์รับเทรนด์ไลฟ์สดขายสินค้าออนไลน์ มุ่งสู่เป้าหมายหลักเพิ่มมูลค่ากิจการแตะแสนล้านบาท
นายคมสัน ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) เปิดเผยว่า แฟลช กรุ๊ป ปิดการระดมครั้งใหญ่อีกครั้งในรอบซีรีย์ F เมื่อเดือน ธ.ค.65 วงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนหลักจากผู้ถือหุ้นเดิม คาดว่าจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดของผู้ร่วมทุนรอบใหม่นี้ราวเดือน มี.ค.66
การตัดสินใจระดมทุนครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทได้เลื่อนแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปจากที่คาดว่าจะเดินหน้าได้ในปีนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา บริษัทประสบกับปัจจัยที่ไม่ได้คาดคิด ทำให้ผลประกอบการพลิกจากกำไรในปี 64 มาเป็นขาดทุนแม้ว่ารายได้จะทรงตัวราว 1.76 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ภาวะตลาดอีคอมเมิร์ซชะลอตัวหลังจากที่เติบโตพุ่งอย่างมากในปี 64 สถานการณ์โควิดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้บริษัทต้องหันมามุ่งเน้นการปรับลดต้นทุนลงอย่างมาก
“ปีที่ผ่านมาไม่มีใครง่าย แต่สำคัญที่สุดคือกำลังภายในของใครจะซ่อมบ้านได้เร็วกว่ากัน เราปรับเปลี่ยนผู้บริหารไปกว่า 20% ตอนที่เราเติบโตเราต้องการผู้สร้าง แต่ตอนที่ตลาดนิ่ง เราต้องการผู้ซ่อม”
“ปริมาณสินค้าเราเท่าเดิม แต่ต้นทุนเราไม่เท่าเดิม รายได้เราเท่าเดิม ทำให้เราขาดทุน…ปี 2021 มันไปแรงเกิน โตเกือบ 200% เกือบทุกบริษัท ทำให้ปี 2022 ชะลอตัวลง สถานการณ์ตลาดทุนโลก หุ้นของบริษัทมหาชนของโลกด้านอีคอมเมิร์ซตกไปมากกว่า 60% ทำให้ทุกแพลตฟอร์มแตกตื่น ลดเงินอุดหนุนหรือลดเงินโฆษณามหาศาล ทำให้ไม่มีการกระตุ้นตลาด (จำนวนเงินต่อบิล) หายไปประมาณ 15% ของที่จะซื้อออนไลน์ยังซื้อเหมือนเดิม แต่เลือกซื้อที่ราคาแทนที่จะเป็นแบรนด์ ของฟุ่มเฟือยอย่าง แฟชั่น คอสเมติก ลดลง ส่วนการแข่งขันด้านราคาไม่ได้มีเยอะแล้ว” นายคมสัน กล่าว
แฟลช ยังมีปริมาณการขนส่งในไทยเป็นอันดับ 1 ที่ 2.4 แสนชิ้น/วัน หรือ 700 ล้านชิ้น/ปี
ดังนั้น บริษัทจึงได้ตัดสินใจชะลอแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปอย่างน้อย 3 ปีจากนี้ เพื่อรอให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมองโอกาสการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ อย่าง ตลาดหุ้นแนสแดก เป็นต้น ที่มีหลักเกณฑ์และข้อจำกัดน้อยกว่า รวมทั้งอาจได้ราคาเสนอขายหุ้นที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยก็ยังเป็นเป้าหมายแรกของบริษัท เพราะฐานใหญ่ของแฟลชอยู่ในประเทศไทย ผู้บริโภคในประเทศไทยรู้จักเราดีที่สุด ซึ่งในปี 67 จะเริ่มต้นขั้นตอนนี้อีกครั้ง
“เป้าหมายเรายังเหมือนเดิม เราจะเพิ่มมูลค่ากิจการไปถึงแสนล้านบาท จากตอนนี้มาถึง 7 หมื่นล้านบาทแล้ว ยังไปไม่ถึงฝัน และมีเป้าหมายเข้าตลาดหุ้นแน่นอน ปี 2023 เป็นแผนเก่าที่เราจะเข้าปลายปี แต่ปี 2022 เหนื่อย แต่จากนี้อีก 2-3 ปี เราไม่ต้องระดมทุนอีกแล้ว ไว้ปี 2024 เริ่มใหม่ จริง ๆ ไม่ได้ยากสำหรับเราที่จะเข้าตลาดหุ้น แต่ราคามันจะดีหรือเปล่า จะคุ้มกับผู้ถือหุ้นของเราหรือเปล่า”นายคมสัน กล่าว
ขณะที่ปีนี้บริษัทเชื่อว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลง และกำลังซื้อฟื้นตัว รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาเติบโตได้ดีมาก จะทำให้ผลประกอบการพลิกฟื้นขึ้นได้ บริษัทจึงตัดสินใจเลือกแนวทางเดิม คือการระดมทุนรอบซีรีย์ F เพื่อตุนเงินทุนมาใช้ขยายธุรกิจในช่วง 2-3 ปีจากนี้ และก่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์อาจจะมีการระดมทุนในรูปแบบ Pre-IPO อีกครั้ง
นายคมสัน กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายการขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ประเทศ จากเป้าหมายที่วางไว้คือ เวียดนาม และสิงคโปร์ จากปัจจุบัน 10 ธุรกิจในเครือได้ขยายเช้าไปในลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียแล้ว โดยมองว่าสิงคโปร์เป็น Hub สำคัญของอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ตลาดเวียดนามมีการเติบโตในระดับสูง รวมทั้งรูปแบบที่จะขยายกิจการจะไปด้วยตัวเองหรือเข้าไปซื้อกิจการ ยังต้องพิจารณาความเหมาะสม
F Commerce จะเป็นธุรกิจดาวเด่นในปีนี้ เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่แฟลช กรุ๊ป ได้เริ่มจากต่างประเทศและประสบความสำเร็จ และได้นำเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 65 โดยบริษัทจะทำหน้าที่ตัวกลางระหว่างเจ้าของแบรนด์สินค้าในออนไลน์ แพลตฟอร์ม และอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งบุคคลธรรมดาหรือดารานักแสดงที่รับไลฟ์สดขายสินค้า ยิงโฆษณา เจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกัน ให้เช่าสถานที่ ขณะที่เราเป็นพันธมิตรที่ได้รับทุกใบอนุญาตของ Tiktok 1 ใน 3 รายในโลกนี้
นายคมสัน กล่าวว่า เราเป็นเหมือนตัวกลางเชื่อมต่อ ขณะนี้บริษัทได้เซ็นสัญญากับคนดังในโลกโซเชียลไปแล้วหลายราย และแบรนด์ต่าง ๆ ตอนนี้ในอินโดนีเซียเราเป็นที่ 1 แล้วจาก 3 อาคารที่มี และปลายปีจะเพิ่มเป็น 10 อาคาร ในไทยเราขึ้น Top 3 แล้ว ตอนนี้กำลังสร้างอาคารไลฟ์สดเซ็นเตอร์ ภายในสิ้นปีนี้จะเป็นที่หนึ่งของภูมิภาคนี้แน่นอน จากปีที่แล้ว 300-400 ล้านบาท ปีนี้น่าจะขยายเป็น 10 เท่าหรือ 3-5 พันล้านบาท เราจะปั้นพิมรี่พายเป็นพันคน
“Tiktok เข้ามาแล้ว ทำให้เจ้าตลาดอย่างที่เคยมี ช้อปปี้ ลาซาด้า มีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป อย่าง อินโด Tiktok ตอนนี้มี transition ส่งอยู่ 2 ล้าน transition แล้ว ในไทย 7 แสน มาเลเซีย 4 แสน ฟิลิปปินส์ 6 แสน ทำให้เรามองเห็นชัดเจนว่า Tiktok กำลังจะเปลียนแปลงโครงสร้าง และฐานลูกค้าของอีคอมเมิร์ซ เมิ่อ Tiktok มาแล้ว เขาจะให้ใครส่ง ตอนนี้ใน 7 แสนของไทยเรามีแชร์เกือบครึ่ง”นายคมสัน กล่าว
สำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเงินลงทุนหลัก ๆ ในปีนี้จะใช้ปรับปรุงคลังสินค้า 40 แห่ง ที่บางแห่งยังไม่ได้มาตรฐานก็จะเปลี่ยนให้มีมาตรฐาน ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยมากขึ้น ในด้านยานยนต์ก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายบริการในพื้นที่ห่างไกล อีกส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจในต่างประเทศในทุกบริการที่มีอยู่ เราตั้งเป้าที่จะทำให้รายได้จากตลาดต่างประเทศรวมกันมากกว่าธุรกิจไทย 2-3 เท่า เพราะถ้าลูก ๆ ของเราสามารถหาเงินเองได้ธุรกิจแม่ก็จะปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนบริการฟิวซ์โพสต์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างแฟลชเอ็กซ์เพรส ไปรษณีย์ไทย และ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ให้บริการขนส่งด่วนควบคุมอุณหภูมิ ในปีนี้น่าจะขยายไปทั่วประเทศได้ น่าจะไปได้สวยมาก ทั้งจากเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยและแฟลช หลังจากทั้ง 3 ฝ่ายเข้ามาอยู่ในสภาวะที่คุ้นเคยและปรับตัวได้ดีขึ้นแล้ว
นายคมสัน กล่าวว่า เรื่องการแข่งขันในธุรกิจขนส่งคงไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีต ตอนนี้ราคาแทบไม่แตกต่างกัน และบอกตรง ๆ ว่าคงปรับขึ้นไปไม่ได้ แต่ปีนี้จะไปแข่งขันกับที่ความเสถียรในการให้บริการ และคุณภาพในการให้บริการของหาย ของเสีย เพราะหากพูดถึงความเร็ว ถือว่าการขนส่งของไทยเร็วที่สุดในอาเซียน คือใช้เวลา 2 วันส่งได้ทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 66)
Tags: คมสัน ลี, อีคอมเมิร์ซ, แฟลช กรุ๊ป, โลจิสติกส์