ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ พร้อมแนะให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ กกพ.ดูแลการกำหนดปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรองให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า
“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 (กพช.) และผู้ถูกร้องที่ 2 (กกพ.) ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควรและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
คดีนี้สืบเนื่องจาก นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้นำเรื่องมาร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสองหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 66)
Tags: กกพ., กพช., ผลิตไฟฟ้า, ศาลรัฐธรรมนูญ