ก.ล.ต.เฮียริ่งแก้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดช่องลูกจ้างนำเงินใช้แก้วิกฤต

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นกลไกการออมและการลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณ

ตามที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สอดรับกับการออมภาคบังคับของแรงงานภาคเอกชนในระบบไปแล้ว และได้นำข้อเสนอแนะจากความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดทำหลักการและร่างกฎหมายในการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติม เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) โครงสร้างและการบริหารกองทุน เช่น การเพิ่มความชัดเจนในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการจดทะเบียนและการดำเนินการอื่น ๆ การเปิดให้มีนายทะเบียนสมาชิกที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของสมาชิกรายนายจ้าง (central registrar) และการให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับการโอนย้ายกองทุนหรือชำระการขายเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินได้ (pay in kind)

2) ธรรมาภิบาลของกองทุน (Governance) เช่น การกำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน การกำหนดให้ลูกจ้าง เป็นสมาชิกกองทุนได้โดยง่าย (automatic enrollment) การมีกลไกช่วยให้สมาชิกมีนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม (default portfolio) และการจัดทำบัญชีและการบันทึกรายได้ ค่าใช้จ่ายของกองทุน

3) การดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับเงินเร็วขึ้น เช่น การให้นายทะเบียนสามารถเลิกกองทุน รวมถึงกองทุนเฉพาะส่วนรายนายจ้างสำหรับกองทุนหลายนายจ้าง การให้ผู้จัดการกองทุนสามารถจ่ายเงินแยกส่วนของนายจ้างและลูกจ้างได้ การกำหนดหน้าที่ของนายจ้างในการแจ้งสิ้นสุดสมาชิกภาพและเปิดให้ลูกจ้างแจ้งสิ้นสุดสมาชิกภาพได้ และการจัดการเงินคงค้าง

4) การเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ลูกจ้างในการจัดการเงิน เช่น การให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจลดหย่อนการส่งเงินเข้ากองทุนและให้ลูกจ้างนำเงินออกจากกองทุนได้บางส่วนในกรณีวิกฤต การให้ลูกจ้างสามารถหยุดส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราว การให้ลูกจ้างนำเงินสะสมบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ในกรณีที่จำเป็น การเพิ่มอัตราเพดานของเงินสะสมและเงินสมทบ การให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุออกจากงานโดยไม่ได้เกษียณอายุสามารถรับเงินงวดได้ และการให้ลูกจ้างที่เข้าเงื่อนไขเกษียณอายุและยังเป็นลูกจ้างต่อไปสามารถสะสมเงินต่อได้โดยนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบหรือไม่ก็ได้

5) การกำกับดูแล เช่น การกำหนดมาตรฐานของข้อบังคับและแนวทางการรับจดทะเบียนกองทุน การรายงานข้อมูลของนายจ้างที่เกี่ยวข้องกับกองทุนและสมาชิก การรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การปรับลดเงินเพิ่มที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่กองทุน กำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล และการกำหนดโทษและอายุความ

ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=864 ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2566

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top