นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ประกอบด้วย แนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ ดังนี้
1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วัน ทุกพื้นที่ เช่น บูรณาการข้อมูลสำหรับการสื่อสารในช่วงวิกฤต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือ และโต้ตอบ Fake News อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ และเน้นการสื่อสาร ผ่านสื่อใหม่มากขึน เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน
2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมกำลังพล บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ และภาคอุตสาหกรรม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต และบำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์รถที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงาน อุตสาหกรรมที่ใช้หม้อน้ำ และโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาหรือมีการเผาซ้ำซาก และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อย ไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผา
4. กำกับ ดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติการเชิงรุก เพิ่มการลงพื้นที่ควบคุมและลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จัดให้มีแพลตฟอร์ม ศูนย์รวมข้อมูลหรือช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล หรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนา ระบบพยากรณ์ความรุนแรง และอันตรายของไฟ เพื่อเป็นข้อมูลคาดการณ์ การเคลื่อนที่หรือการลุกลามของไฟในการเข้าระงับเหตุ และสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่าของ อปท. ที่ได้รับการถ่ายโอน ภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่า รวมถึงสำรวจและตรวจสอบความครบถ้วน สมบูรณ์ของเครื่องมือดังกล่าว เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการปฏิบัติการป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟ
6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหา หมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนด เป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับความร่วมมือในกรอบ คณะกรรมการชายแดนและจังหวัดคู่ขนาน เพื่อกำกับควบคุมแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการเผา
7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผน และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง สร้างความเข้าใจ กับประชาชน เปิดโอกาสและสร้างช่องทางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และจัดให้มีช่องทางรายงานผล การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางสำหรับร้องทุกข์ เพื่อแจ้งเหตุการเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่ง
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนเฉพาะกิจฯ ปี 2566 นี้มาจากการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2565 โดยปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกระดับความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการต่างๆ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านสื่อใหม่มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุม คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนเฉพาะกิจนี้ ปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 66)
Tags: PM2.5, ประชุมครม., ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละออง, มติคณะรัฐมนตรี, อนุชา บูรพชัยศรี