ตอนนี้ข่าวร้ายที่กระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดเกี่ยวกับ FTX Trading เริ่มซาลง แต่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวยังดำเนินต่อไป ซึ่งล่าสุด Sam Bankman-Fired หรือ SBF ถูกส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อรับการสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งในปัจจุบันผู้ต้องหาแทบทุกคน เช่น Caroline Ellison อดีตผู้บริหารของ Alameda Research และ Gary Wong อดีตผู้บริหารของ FTX Trading ได้ให้การ “รับสารภาพ” กับเจ้าหน้าที่รัฐว่าได้ร่วมกันฉ้อโกงตามที่ถูกตั้งข้อหา ซึ่งแน่นอนว่าการ “สารภาพ” ดังกล่าวนั้นจะมีผลต่อรูปคดีและคำพิพากษาในอนาคตไม่มากก็น้อย ซึ่งในประเทศไทยก็มีบทบัญญัติหรือหลักเกณฑ์ในคดีอาญาที่คล้ายกันดังกล่าวเช่นกัน
โดยกฎหมายอาญาของประเทศไทยนั้น หากผู้กระทำความผิดหรือจำเลยรับสารภาพต่อศาลในคดีอาญา เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรก็จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่ง ศาลจะใช้ดุลพินิจว่าควรลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ นอกจากการรับสารภาพจะเป็นเหตุบรรเทาโทษแล้วก็ยังมีเหตุอื่น ๆ อีก เช่น การเคยทำคุณงามความดีมาก่อน การรู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายที่ตนก่อ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ต้องลดทุกกรณีที่ผู้ต้องหาสารภาพ ทั้งนี้ หากกรณีที่ศาลเห็นว่าการสารภาพดังกล่าวเป็นเพราะจำนนต่อหลักฐาน หรือความผิดนั้นมีพฤติการณ์ร้ายแรง กระทำโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ก็จะพิจารณาไม่ลดโทษให้
นอกจากนั้น หากศาลได้ลดโทษแล้ว โทษนั้นเป็นโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ศาลก็อาจรอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ได้ กล่าวคือ ทำความผิดต้องได้รับโทษแต่ไม่ต้องจำคุก หากศาลพิจารณาจาก อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัยอาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้วเห็นว่าบุคคลนั้น ๆ ไม่ควรต้องจำคุก
การสารภาพผิด จึงเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปของผู้ต้องหาหรือจำเลย หากเห็นว่าตนเองกระทำความผิดจริง หรือไม่มีข้อต่อสู้ ไม่ว่าในระบบกฎหมายใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการพิจารณาระบบลูกขุนในสหรัฐอเมริกาที่การรับสารภาพหรือการแสดงความรู้สึกผิดจะสามารถแสดงให้ผู้ที่ต้องตัดสินตัวเองนั้นเห็นหรือรู้สึกได้โดยตรง อาจส่งผลให้ตนเองได้รับโทษลดน้อยมากที่สุด หรือไม่ต้องไปรับโทษเลย ซึ่งการสารภาพผิดหรือเหตุบรรเทาโทษอื่น ๆ ก็จะไม่ได้เป็นการลบล้างความผิดที่ได้กระทำหรือโทษที่ต้องได้รับ
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 66)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, Decrypto, FTX Trading, Sam Bankman-Fired, SBF, SCOOP, กฎหมายอาญา, คดีอาญา, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล