ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (2-6 ม.ค.66) ที่ระดับ 34.00-34.80 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดวันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 65 ที่ระดับ 34.56 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 65 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 65 เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในกรอบแข็งค่า โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางเงินหยวนท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกหลังจากที่ทางการจีนประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากทิศทางเงินทุนต่างชาติ ซึ่งกลับมามีสถานะซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ ตามจังหวะการฟื้นตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับภาพรวมในปี 2565 นั้น เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงประมาณ 3.3% มาที่ 34.56 บาท/ดอลลาร์ (ณ 30 ธ.ค. 65) จากระดับปิดสิ้นปี 2564 ที่ 33.41 บาท/ดอลลาร์ โดยแรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินบาทส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งหลักๆ มาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2565 หลังจากเฟดเริ่มส่งสัญญาณชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความหวังที่จีนทยอยเปิดประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ธ.ค. 65)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, เงินบาท