ถอดหน้ากากคนดี! ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกแล้ว รอเคาะวัน

พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคการเมือง ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ภายใต้ยุทธการณ์ “ถอดหน้ากากคนดี” เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารราชการ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงเนื้อแท้ และผลงานของคนดีว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลบริหารบ้านเมืองล้มเหลว และไม่ได้เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้

ดังนั้น การเปิดอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้ จะเป็นการเจาะลึกทุกประเด็น และมีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างกับอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เพียงแต่รอบนี้ไม่มีการลงมติ

“จึงหวังว่า พี่น้องประชาชนจะได้ใช้โอกาสนี้ ในการตรวจสอบรัฐบาล พร้อมกับนำไปประกอบการตัดสินใจการเลือกตั้งครั้งหน้าและเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน”

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ

ด้านนายพิธา กล่าวต่อว่า มี 2 ประเด็นที่ต้องการจะสื่อสาร กล่าวคือ ประเด็นแรก การอภิปรายตามมาตรา 152 เป็นการตรวจการบ้านรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และเหมือนเป็นการทำงานต่อเนื่องจากสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฉายา “แปดเปื้อน” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, “หน้าชัดหลังเบอร์” ของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ “ลองนายกฯ” ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

“เราต้องการที่จะถอดหน้ากากคนดี โดยจะนำข้อเท็จจริงมาประกอบให้ประชาชนเชื่อว่าจริง หรือไม่จริง”

นายพิธา กล่าว

ประเด็นที่สอง คือ การอภิปรายตามมาตรา 152 ในช่วงโค้งสุดท้ายของสภาฯ ซึ่งรู้กันดีว่าไม่เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ส.ส. โหวตไม่ได้ แต่ปีนี้ประชาชนโหวตได้ เพราะฉะนั้นเราจะทำงานหนักเหมือนไม่ใช่โค้งสุดท้าย เพื่อนำข้อมูลทั้งเรื่องทุจริตความล้มเหลวในการบริหารให้ประชาชนโหวตแทน ส.ส. ในครั้งนี้

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้ สภาฯ ได้เตรียมกำหนดวันและเวลาไว้แล้ว จึงคาดว่าจะสามารถเปิดประชุมได้ในปลายเดือนม.ค.66 เพราะต้องหารือร่วมกับฝ่ายรัฐบาลด้วยว่ามีความพร้อมเมื่อใด

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายแน่นอน เนื่องจากเป็นการอภิปรายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และหารือแนวทางต่างๆ ดังนั้นหากรัฐบาลพร้อม ก็จะนำญัตติบรรจุเข้าในวาระสภาฯ ต่อไป จากนั้นก็ให้วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านหารือร่วมกันว่าจะกำหนดกรอบระยะเวลาการอภิปรายอย่างไร

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top