Decrypto: Trump NFT เกือบจะดีแล้ว

อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งถือว่าเป็นนักด่า Bitcoin และ Cryptocurrency ตัวยงมาตลอด ปรากฎว่าล่าสุดได้ Trump ได้ออก NFT ชื่อ Donald Trump Digital Trading Card โดยเปิดราคาขายอยู่ที่ 99 ดอลลาร์ และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 48 ชั่วโมง ราคา NFT ดังกล่าวก็พุ่งสูงไปกว่า 700% ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่ไม่ว่าจะเป็น Trump ที่เคยต่อต้าน Bitcoin และ Cryptocurrency กลับมาสนใจ NFT และราคาของ NFT ที่พุ่งสูงอย่างมากจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่มากก็น้อย แต่ก็มิวายต้องมีเรื่องให้ดราม่าเพราะมีคนตาดีเห็นว่าภาพที่ Trump เอามาใช้ทำ NFT นั้นยังปรากฏลายน้ำ (Watermark) อยู่หลายจุด เช่นลายน้ำของ Shutterstock และ Adobe หรือพูดง่าย ๆ คือ Trump เอารูปจากตลาดซื้อขายภาพออนไลน์มาใช้แบบ ฟรี ฟรี โดยไม่เสียเงินค่าลิขสิทธิ์นั่นเอง ซึ่งมีผู้ประเมินว่าหากทั้งสองค่ายเรียกร้องค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าวแล้ว Trump อาจจะต้องเสียค่าเสียหายเป็นเงินมากกว่า 4 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 140 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งโดยปกติตามกฎหมายแล้วรูปภาพบนโลกออนไลน์จะสามารถก๊อปปี้ หรือคัดลอกกันได้ง่าย ๆ แต่อย่างไรก็ตามรูปภาพต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง ที่จะได้รับความคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนใด ๆ นับตั้งแต่วินาทีที่เจ้าของภาพสร้างสรรค์ภาพนั้น ๆ ขึ้นมา เจ้าของผลงานเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะสามารถทำสำเนา คัดลอก ดัดแปลงหรือหาประโยชน์ได้ เว้นแต่เจ้าของผลงานนั้น ๆ จะได้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การห้ามใช้เพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เกิดตลาดซื้อขายภาพออนไลน์ขึ้น หรือ การที่จะให้ผู้ใช้งานภาพได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพเพื่อนำภาพนั้น ๆ ไปใช้ ซึ่งโดยปกติการซื้อภาพจากตลาดขายภาพออนไลน์นั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Rights-Managed คือการจ่ายเฉพาะครั้งที่ใช้ กล่าวคือ เอาไปใช้ได้ครั้งเดียว จะใช้ใหม่ต้องไปจ่ายเงินใหม่ และอีกประเภทหนึ่งคือ Royalty-Free ซึ่งจ่ายเงินครั้งเดียว สามารถนำภาพนั้น ๆ ไปใช้ได้เรื่อย ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการเหมาจ่ายนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้ใช้งานจะได้จ่ายเงินเพื่อใช้ภาพนั้น ๆ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของภาพนั้น ๆ จึงต้องตรวจสอบเงื่อนไขการใช้ภาพแต่ละกรณี ๆ ไป ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์จะมีความผิดทั้งจำคุกและปรับ

ดังนั้นแล้วผู้ที่ต้องการจะสร้างสรรค์หรือขาย NFT นอกจากจะต้องทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเบื้องหลังแล้วยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมากเกี่ยวกับการออก NFT ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทหรือความผิดตามกฎหมายทั้งของประเทศไทยและของต่างประเทศ

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top