In Focus: ย้อนรอยการเมืองโลกตลอดปี 2565

ปี 2565 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ยิ่งใหญ่มากมายในเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม การประท้วง หรือการปรับเปลี่ยนรัฐบาล

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว In Focus ประจำสัปดาห์นี้ ขอพาทุกท่านย้อนรอยไปกับสถานการณ์เมืองจากหลากหลายทวีปทั่วโลกตลอดทั้งปี 2565 ซึ่งสถานการณ์บางอย่างก็ได้เปลี่ยนโลกเราตลอดไป

สงครามรัสเซีย-ยูเครน

สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดของปีนี้คงหนีไม่พ้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้เริ่มเปิดฉากบุกโจมตียูเครน โดยส่งกองทัพภาคพื้นดินรุกคืบเข้าใกล้กรุงเคียฟของยูเครน ทั้งยังมีการทิ้งขีปนาวุธและระเบิดในหลายพื้นที่ จนทำให้ประชาชนยูเครนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ชาติตะวันตกต่างออกมาประณามการกระทำของรัสเซีย พร้อมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินทุนช่วยเหลือให้กับยูเครน และที่สำคัญคือมีการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมรอบด้านและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยมีมา โดยหวังที่จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนักเพื่อบีบให้หมีขาวต้องยอมถอยทัพ หรืออย่างน้อยก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจา ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไม่หยุด จนกระทบปากท้องและค่าครองชีพของประชาชนทุกหย่อมหญ้า

การเมืองฟิลิปปินส์กับเดิมพันครั้งใหม่

ประเทศใกล้ตัวก๊วนอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์เองก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญเช่นกัน ซึ่งได้จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. โดยนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) หรือ “บองบอง” วัย 64 ปี บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำจอมเผด็จการ มีคะแนนนำคู่แข่งคนสำคัญไปอย่างขาดลอย ขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟิลิปปินส์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหวนคืนสู่ทำเนียบมาลากันยัง (Malacanang) ในรอบ 36 ปีของตระกูลมาร์กอสได้สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วเกาะน้อยใหญ่ของฟิลิปปินส์ หลังจากที่อดีตปธน.เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อถูกโค่นอำนาจลง จนต้องลี้ภัยไปที่รัฐฮาวายเมื่อปี 2529 ทิ้งไว้แต่เพียงความทรงจำอันเลวร้ายของการคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคนั้น

วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา บานปลายเป็นปัญหาการเมือง

เศรษฐกิจศรีลังกาอยู่ในขั้นวิกฤติมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่สถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นในปีนี้เมื่อประชาชนเริ่มประท้วงเมื่อเดือนเม.ย. เพื่อเรียกร้องให้นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมองว่าเขาบริหารประเทศผิดพลาดจนทำให้วิกฤติรุนแรงเช่นนี้ จนท้ายที่สุดเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงได้บุกบ้านของประธานาธิบดี จนทำให้เขาต้องหนีออกนอกประเทศและประกาศลาออก

อย่างไรก็ดี ศรีลังกาก็ยังไม่เข็ด เพราะนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากรัฐสภาศรีลังกาได้จัดการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่ในวันนี้ และเทคะแนนให้กับนายวิกรมสิงเหในท้ายที่สุด แม้จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนทั่วประเทศก็ตาม

นอกจากนี้ นายโคฐาภยะ ราชปักษะ อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ยังได้เดินทางกลับถึงศรีลังกาแล้วเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยประชาชนชาวศรีลังกาซึ่งเคยรวมตัวกันขับไล่นายโคฐาภยะ ราชปักษะ จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศนั้น ยังคงต้องยอมรับปกครองของนายรานิล วิกรมสิงเห ผู้ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นกลุ่มการเมืองเดียวกัน และกำลังเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง

ทริปประวัติศาสตร์ “แนนซี เพโลซี” เยือนไต้หวัน หวั่นจุดชนวนสงครามซ้ำรอยยุโรป

ไล่มาจนถึงกลางปีสถานการณ์ทางการเมืองยังร้อนแรงไม่แผ่ว เมื่อนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันในเดือนส.ค. ซึ่งถ้าเป็นนักการเมืองประเทศอื่นเดินทางเยือนไต้หวันก็คงฟังดูเป็นเรื่องการทูตธรรมดา แต่เมื่อเป็นการเดินทางของบุคคลที่ทรงอิทธิพลมาก ๆ จากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ เพื่อเยือนดินแดนที่มหาอำนาจอันดับสองของโลกอย่างจีนเตือนไว้หลายครั้งหลายคราวว่าห้ามมาแล้ว ความเคลื่อนไหวนี้จึงถูกเพ่งเล็งแบบเลี่ยงไม่ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับจีน ซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ โดยจีนเคยเตือนว่าจะออกมาตรการตอบโต้หากนางเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันจริง ทั้งยังเคยออกแถลงการณ์ที่มีนัยว่าจีนอาจใช้กำลังทางทหารเพื่อเป็นการตอบโต้ ทำให้ทริปนี้กลายเป็นที่จับตาจากคนทั่วโลก เพราะหวั่นซ้ำรอยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต

เมื่อช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตแล้ว ขณะทรงมีพระชนมายุ 96 พรรษา และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษ

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อให้เกิดการถกเถียงถึงอนาคตสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวคิดความเท่าเทียม และความหลากหลายกำลังเบ่งบาน ตลอดจนอุปสรรคและบททดสอบเบื้องหน้าต่าง ๆ ที่พระองค์จะต้องทรงเตรียมตัวรับมือนับจากวันนี้

นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องการเป็นสาธารณรัฐมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชน 15 ราชอาณาจักรเครือจักรภพที่ยังคงนับถือกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขรัฐ หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับแผนการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบสาธารณรัฐ

นอกจากความท้าทายของเครือจักรภพ การถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนสู่ระบอบสาธารณรัฐเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ บนเกาะอังกฤษเอง หลายฝ่ายถึงขนาดมองว่า แม้ชาวอังกฤษจะรักสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่การที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งทรงได้รับความนิยมน้อยกว่าได้ขึ้นครองราชย์นั้น อาจบ่งชี้ว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกำลังใกล้จะสิ้นสุดลง

“สี จิ้นผิง” รั้งตำแหน่งผู้นำจีนเป็นสมัย 3

การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ปิดฉากลงในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติรับรองสถานะสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในคณะกรรมการกลางบริหารพรรค ซึ่งเท่ากับว่า ปธน.สี วัย 69 ปี ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนต่อไปอีกเป็นสมัยที่ 3 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองจีน ในฐานะเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดต่อจากเหมา เจ๋อตุง

มรสุมการเมืองอังกฤษ สู่นายกฯ เชื้อสายอินเดียคนแรกในประวัติศาสตร์

ปี 2565 ไม่ค่อยใจดีกับสหราชอาณาจักรเท่าใดนัก เพราะนอกจากจะสูญเสียราชินีผู้เป็นที่รักแล้ว ปัญหาการเมืองก็ปั่นป่วนจนมีนายกรัฐมนตรี 3 คนในปีเดียว

มรสุมการเมืองของอังกฤษได้เริ่มขึ้นเมื่อนายบอริส จอห์นสัน นายกฯ ขณะนั้น ได้ประกาศลาออกเมื่อเดือนก.ค.หลังเผชิญกับข่าวฉาวมากมาย ต่อมาก็ได้นางลิซ ทรัสส์ มาดำรงตำแหน่งต่อ ทว่าดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ต้องลาออกอีก จนมาได้นายริชี ซูนัค นายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรกในประวัติศาสตร์

ย้อนกลับไปสมัยที่นางลิซ ทรัสส์ ดำรงตำแหน่งนั้น เธอได้ประกาศแผนปรับลดภาษีครั้งใหญ่ ทว่าสถานการณ์กลับย่ำแย่ลงหลังจากนั้น เพราะนโยบายดังกล่าวทำให้ตลาดปั่นป่วน และแม้จะพยายามแก้สถานการณ์แล้ว แต่เธอก็ต้องยอมแพ้และลาออกจากตำแหน่งไป โดยนายริชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังได้ใช้โอกาสนี้ประกาศลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แข่งขันกับนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเพนนี มอร์ดอนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ แต่นายจอห์นสันและนางมอร์ดอนท์ประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งในเกือบจะนาทีสุดท้าย ส่งผลให้ประตูสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเปิดต้อนรับนายซูนัคอย่างเหลือเชื่อ

G20 และ APEC เวทีเศรษฐกิจหรือการเมือง?

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับบทเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญสองรายการไล่เลี่ยกันได้แก่ การประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือ เอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. โดยการประชุมระดับผู้นำเอเปคจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. และการประชุมเอเปคครั้งนี้เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

หลายฝ่ายหวังให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ได้ใช้เวทีเหล่านี้ในการพบปะพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การประชุมเหล่านี้ซึ่งเดิมทีจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นเวทีการเมืองของประเทศมหาอำนาจไปโดยปริยาย

ทั่วโลกต่างจับตาการพบกันระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อเดือนม.ค. 2564 หลังจากที่ทั้งคู่เคยพูดคุยผ่านวิดีโอและโทรศัพท์มาแล้ว 5 ครั้ง โดยผู้นำทั้งสองได้พบกันหนึ่งวันก่อนที่การประชุม G20 จะเปิดฉากขึ้น ในระหว่างการประชุมนาน 3 ชั่วโมง

เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม G20 ที่บาหลี ปธน.สี จิ้นผิง ก็ได้เดินทางมาร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทย ส่วนปธน.ไบเดนมอบหมายให้นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาร่วมการประชุมแทน ขณะที่ปธน.ปูตินก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน และส่งนายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เข้าร่วมการประชุมแทน ดังนั้นสปอตไลต์จะส่องมาที่ปธน.สี จิ้นผิงอย่างเต็มที่แน่นอน นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำสหรัฐคิดผิดที่ปล่อยให้จุดสนใจไปอยู่ที่ผู้นำจีนเพียงคนเดียว แถมยังทำให้เกิดความรู้สึกว่าสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่ากับจีน เพราะปธน.ไบเดนเลือกไปงานแต่งงานของหลานสาวแทนที่จะเข้าร่วมการประชุมเอเปค แม้ว่าเขาจะเข้าร่วมการประชุม G20 ที่บาหลี แต่การประชุมเอเปคมีความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มากกว่า การที่สหรัฐซึ่งเป็นประเทศห่างไกลทำตัวห่างเหินแบบนี้ ยิ่งเปิดโอกาสให้จีนที่อยู่ใกล้กว่าขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น

เจาะลึกการประท้วงในอิหร่าน หลังรัฐบาลเริ่มเชือดไก่ให้ลิงดู

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประชาชนชาวอิหร่านได้ลุกฮือขึ้นออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของน.ส.มาห์ซา อามินี วัย 22 ปี จากจุดนั้นเอง เหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศจนนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องเสรีภาพสตรีและล้มล้างการปกครองครั้งประวัติศาสตร์ของอิหร่าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อรัฐบาลเริ่มใช้ไม้แข็งตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยการแขวนคอนักโทษที่มีคดีเชื่อมโยงกับการชุมนุมถึง 2 รายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ทั่วอิหร่าน เริ่มต้นขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของน.ส.มาห์ซา อามินี วัย 22 ปี ในวันที่ 16 ก.ย. 2565 หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรมของอิหร่านจับกุมตัวในกรุงเตหะราน จากการกระทำความผิดตามกฎข้อบังคับของอิหร่านที่กำหนดว่า ผู้หญิงจะต้องคลุมฮิญาบปิดบังใบหน้าและไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปในที่สาธารณะ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า น.ส.อามินีเสียชีวิต เนื่องจากล้มป่วยในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวร่วมกับผู้หญิงคนอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า น.ส.อามินีถูกตำรวจใช้ไม้กระบองฟาดเข้าที่ศีรษะ แต่ทางตำรวจได้ออกมาโต้แย้งว่าเธอเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย

ความไม่พอใจก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นการประท้วง ต่อมาไม่นาน การประท้วงครั้งนี้ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวอิหร่านทั้งหญิงและชายในหลายสิบเมือง นักเรียน-นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเริ่มลุกฮือขึ้นมาประท้วงด้วยเช่นเดียวกัน แต่รัฐบาลอิหร่านได้ใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมอย่างรุนแรง โดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ไม้กระบอง และกระสุนจริงในการสลายการชุมนุม

ล่าสุด ทางการอิหร่านได้ประหารชีวิตชาวอิหร่านที่มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วยวิธีแขวนคอไปแล้ว 2 คนในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้นานาชาติร่วมกันคว่ำบาตรตอบโต้อิหร่าน ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดา

มาเลเซียได้นายกฯ คนใหม่

ในปีนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการยุติสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในมาเลเซีย หลังศึกเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. จบลงแบบไร้ผลชี้ขาด โดยไม่มีพรรคใดในสองพรรคใหญ่ได้เสียงข้างมากในสภาเพื่อก่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สภาแขวน”

นายอันวาร์ วัย 75 ปีนั้นคร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมานาน 3 ทศวรรษ โดยเขาเคยติดคุกเป็นเวลาหลายปีจากคดีมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันและคดีทุจริตก่อนถูกปล่อยตัวเป็นอิสระเพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ นอกจากนี้เขายังเคยถูกวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วในปี 2561 โดยนายมหาเธร์ โมฮัมเหม็ด ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

อย่างไรก็ดี นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และผู้นำพรรคเปริกาตัน นาซิออนนาล (PN) เรียกร้องให้นายอันวาร์จัดการลงมติเพื่อพิสูจน์ว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสำหรับการเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย และล่าสุดในเดือนนี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถึง 2 ใน 3 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการลงมติไว้วางใจรัฐบาล ถือว่าสอบผ่านในฐานะผู้นำคนใหม่

สุดท้ายนี้ ถึงแม้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดปี 2565 นั้นวุ่นวายและปั่นป่วนเพียงใด หรือหลายเหตุการณ์ยังไม่สิ้นสุดลง ก็คงต้องติดตามกันไปจนถึงปีหน้าว่า จะลงเอยในรูปแบบใด แต่เราก็ภาวนาว่า ในปีหน้า ทุกวิกฤตจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top