นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (ภาษีขายหุ้น) ว่า มีการหารือกันมานานหลายปีแล้ว และภาษีดังกล่าวอยู่ในประมวลรัษฎากรตั้งแต่แรก แต่ได้ยกเว้นให้เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจากปี 34 ตลาดหุ้นมีมูลค่าการซื้อขาย 9 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 20 ล้านล้านบาทแล้ว จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะกลับมาจัดเก็บภาษี เพราะตลาดมีความเข้มแข็ง
ขณะที่ภาษีที่นำมาใช้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับสากล ซึ่งหลายประเทศก็จัดเก็บภาษีตัวนี้ จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับความสามารถการแข่งขันของตลาดหุ้นไทย และการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนแน่นอน ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นหลัก ๆ เช่น
ฮ่องกง เก็บอัตรา 0.13% จากการขายและการซื้อ
เกาหลีใต้เก็บ 0.23% จากการขาย
ไต้หวันเก็บ 0.30% จากการขายหุ้น และ 0.10% จากการขายหุ้นกู้และหลักทรัพย์อื่น ๆ
สหราชอาณาจักร (UK) เก็บ 0.50% จากการซื้อ และเก็บภาษี Capital Gain
“ถึงเวลาที่เราคิดว่า ตลาดเข้มแข็งพอที่จะนำภาษีที่ควรกลับมาใช้แล้ว และวิธีการเก็บเราเป็นสากลในหลายๆประเทศ และเลือกเก็บง่ายที่สุด และเก็บลักษณะธุรกิจเฉพาะมีความเหมาะสมมากกว่า และต้นทุนจัดเก็บต่ำกว่า มีหลายประเทศใช้ ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว”นายลวรณ กล่าว
ในด้านต้นทุนธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เมื่อการจัดเก็บภาษีหุ้นแล้วในกรณีเก็บเต็มเพดานต้นทุนธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นมาที่ 0.22% ต่ำกว่าฮ่องกงที่อยู่ในระดับ 0.38% และมาเลเซียอยู่ที่ 0.29% ขณะที่สิงคโปร์ไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้น ต้นทุนจะอยู่ที่ 0.19% แต่ในปีแรกของไทยยังลดการเก็บให้เหลือเพียงครึ่งเดียว ทำให้ต้นทุนเพิ่มมาอยู่ที่ 0.195% เท่านั้น
ทั้งนี้ นายลวรณ เชื่อว่า แม้จะเก็บภาษีเต็มเพดาน ไม่ได้ส่งผลให้ต่อการตัดสินใจหรือดึงดูดนักลงทุนเข้ามา และเชื่อว่า ภาษีที่แตกต่างไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่า ใครจะเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคนี้
สำหรับประเด็นการยกเว้นภาษีขายหุ้นให้กับ Market Maker (MM) แต่จัดเก็บจากรายย่อยนั้น นายลวรณ กล่าวว่า เป็นการยกเว้นให้กับ MM ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น ซึ่งก็คือโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่
บัญชีการซื้อขายหุ้น มีประมาณ 5 ล้านบัญชี มีความเคลื่อนไหวประมาณ 1 ล้านบัญชี โดยประมาณแสนคน หรือ 11% แต่มีการเทรดหุ้น 95% ซึ่งเชื่อว่าการเก็บภาษีหุ้นไม่ได้ส่งผลต่อคนส่วนมากที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่อาจเป็นคนส่วนน้อยแต่มีเสียงดัง
“เรื่องนี้ หารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด ไม่ใช่ลุกขึ้นมาเก็บ จะเริ่มเมื่อไหร่ อย่างไร ก็มีระยะเวลาให้เตรียมตัว ซึ่งต้องถามว่าถ้าไม่จัดเก็บวันนี้ แล้วจะเป็นวันไหน วันไหนถึงจะพร้อม เรื่องนี้จึงเป็นความกล้าหาญของรัฐบาล ที่ตัดสินใจจะจัดเก็บภาษีนี้อีกครั้ง ในมุมของกรมสรรพากร คนทำงาน ก็เห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเก็บมานานแล้ว”
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ภาษีขายหุ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจร่างกฎหมายในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ก็จะมีผลบังคับใช้ โดยจะยกเว้นให้ 3 เดือน และจะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่เดือนที่ 4 โดยปีแรกจะยังให้จ่ายภาษีครึ่งเดียว ในอัตรา 0.055% รวมภาษีท้องถิ่น เพื่อให้มีการปรับตัว ก่อนจัดเก็บในอัตรา 0.11% ในปีถัดไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 65)
Tags: กรมสรรพากร, ตลาดหุ้นไทย, ภาษีขายหุ้น, ลวรณ แสงสนิท, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ