“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (7-10 ก.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว ( 29 มิ.ย.-3 ก.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,372.27 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.15% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มของใช้ส่วนบุคคลและเวชภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 15.4% รองลงมาคือกลุ่มเกษตร เพิ่มขึ้น 9.8% และสุดท้ายคือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 8.9%
แม้ว่าตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้จะเปิดซื้อขายเพียง 4 วันทำการเท่านั้น แต่เชื่อว่าคงมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาซื้อขายหุ้นเหมือนกับในช่วงสัปดาห์ปกติ เพราะดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะแกว่งตัวขาขึ้น หรือ Sideway Up ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายค่ายประเมินกรอบแนวต้านรอบนี้ไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกันแถวบริเวณ 1,400 จุด
และการปรับตัวเพิ่มขึ้นตลาดหุ้นไทยรอบนี้ ถูกผลักดันจากกรณีที่รัฐบาลของไทย ทยอยปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
แตกต่างกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังแพร่ระบาดอย่างหนัก เป็นปัจจัยหลักคอยกดดันตลาดหุ้นไทยให้มีการฟื้นตัวในกรอบที่จำกัด โดยตัวเลขล่าสุดพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมามากกว่า 11.5 ล้านราย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงรั้งอันดับหนึ่งเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก ในขณะที่ยังพบผู้ติดเชื้อสะสมรวมเป็นจำนวนเกือบ 3 ล้านราย
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์เฝ้าจับตาในสัปดาห์นี้และต่อเนื่องในสัปดาห์หน้า นั่นก็คือการเตรียมรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส2/63 โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นกลุ่มแรกที่นำร่องประกาศงบการเงินในช่วงกลางเดือน ก.ค. เป็นที่น่าสนใจว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มย่ำแย่ จะนำไปสู่การทบทวนปรับลดประมาณการกำไรในรอบใหม่อีกหรือไม่
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์จะเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,346 จุด และแนวต้าน 1,400 จุด เบื้องต้นประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งคาดจะอยู่ที่ประมาณ 42,000-43,000 ล้านบาท เป็นการปรับตัวลดลง 15-20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่แล้ว พร้อมกับเฝ้าจับตาตัวเลขของหนี้ NPL ในไตรมาสสุดท้ายของปีว่าจะเร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวลกันไว้หรือไม่
“หุ้นกลุ่มธนาคารยังถูกกดดันไปอีกสักพักจนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของผลประกอบการอีกรอบ โดยงบไตรมาส2 นี้คงต้องมาดูว่าแนวโน้มกำไรที่ได้รับจากส่วนต่างดอกเบี้ย แนวทางตั้งสำรองจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินกันไว้เมื่อต้นปีหรือไม่ เพราะจะตัวแปรบั่นทอนประมาณการในปัจจุบัน สิ่งที่เริ่มพูดกันมากขึ้นคือหนี้เสียมีโอกาสเร่งตัว เพราะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ยังไม่จัดชั้นเป็น NPL ระยะเวลา 6 เดือน น่าจะเห็นความชัดเจนราวเดือนตุลาคม เป็นไปได้ว่าในไตรมาส4 หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เฝ้าระวัง แม้ว่าแนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มธนาคารยังไม่สดใส แต่อาจไม่ถึงขั้นกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้เข้าสู่ภาวะเชิงลบมากนัก เพราะคาดยังมีแรงซื้อสนับสนุนหุ้นกลุ่มพลังงานที่ถูกผลักดันโดยแนวโน้มราคาน้ำมันที่พลิกกลับมาเพิ่มขึ้น”
นายธนเดช กล่าว
สอดคล้องกับ บทวิจัย บล.กสิกรไทย ประเมินแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,360 และ 1,340 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,385 และ 1,400 จุด ตามลำดับ
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ 30.80-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงประด็นขัดแย้งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. ของจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 63)
Tags: ตลาดหุ้น, ธนาคารพาณิชย์, ธนเดช รังษีธนานนท์, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน, หุ้นไทย