โบรกฯ มองภาพรวมหุ้นกลุ่มแบงก์ปี 66 เติบโตตามเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 65 โดยประเมินเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีหน้าจะเติบโตสูงถึง 4.1% จาก 3% ในปีนี้ ได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาเร็วและแรง ส่งผลบวกต่อภาพรวมของธุรกิจและผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของกำไรและสินเชื่อ
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปี 66 กลุ่มสินเชื่อขนาดใหญ่ (Corporate Loan) จะเป็นดาวเด่นที่ทำให้ภาพรวมสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขยายตัวได้ดี หลังจากบริษัทขนาดใหญ่มีความมั่นใจกลับมาลงทุนมากขึ้นหลังจากเศรษฐกิจเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริษัทที่มีความแข็งแกร่งของธุรกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเดินหน้าลงทุน หลังจากชะลอไปในช่วงโควิด-19
บริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัว เช่น กลุ่มโรงแรม จะกลับมาลงทุนเป็นกลุ่มแรก ๆ ทำให้เกิดความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อรองรับการลงทุน รองลงมา เป็นสินเชื่อกลุ่มธุรกิจ SME ที่จะมีการฟื้นตัวขึ้นตามเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลายแบงก์มีเป้าหมายจะเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อ SME มากขึ้น หลังจากที่ชะลอไปและระมัดระวังในหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่สินเชื่อรายย่อยในปี 66 คาดว่าจะมีสินเชื่อบางกลุ่มที่มีความโดดเด่น และบางกลุ่มอาจจะเห็นการชะลอตัว โดยที่กลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะเห็นการเติบโตได้ดีเป็นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลบัตรเครดิตและสินเชื่อบ้าน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศกลับมาดีขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจ
แต่กลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะเห็นการชะลอตัวเป็นกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ คาดว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ เพราะอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ผู้ให้สินเชื่อเองก็อาจจะชะลอการอนุมัติสินเชื่อ เพราะมีโอกาสขาดทุนจากการล็อกอัตราไว้ เมื่อดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนของการให้กู้ปรับเพิ่มขึ้นด้วย คนที่ให้กู้มีโอกาสขาดทุนจากการปล่อยกู้ได้
ด้านแนวโน้มของการตั้งสำรองฯ และคุณภาพหนี้ของกลุ่มแบงก์ในปี 66 มองว่าการตั้งสำรองฯ จะผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากในช่วงโควิด-19 มีการตั้งสำรองฯ ไปมากแล้ว และทำให้ Coverage Ratio ของกลุ่มแบงก์เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 150-170% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 130% จากการที่หลาย ๆ แบงก์มีการตั้งสำรองฯ กันมากในช่วงโควิด-19 ทำให้ปี 66 ไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองฯ มากขึ้นแล้ว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกำไร
แต่แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 66 อาจจะเพิ่มขึ้น สวนทางกับการตั้งสำรองฯ เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้บางกลุ่ม ซึ่งอาจมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้และกลายเป็น NPL แต่ไม่มีได้เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะทางแบงก์มีการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ในปี 66 แต่ยังต้องระวังในเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาเชิงเทคนิคสำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ในปีหน้าได้ คือ การกลับไปจ่ายเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิมที่ 0.46% ของเงินฝาก จากปี 65 ที่จ่ายในอัตราพิเศษช่วงโควิด-19 ที่ 0.23% ของเงินฝาก ซึ่งทำให้ต้นทุนของแบงก์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงต้นปี อาจมีผลให้แบงก์ต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.40-0.50% เพื่อชดเชยกับต้นทุนส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการตัดสินใจขอสินเชื่อของลูกค้าในระยะสั้นได้
ขณะที่ความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มแบงก์ยังอยู่ที่มูลค่าหุ้นที่ถือว่าถูก P/BV ในปี 65 อยู่ที่ 0.60-0.70 เท่า และปี 66 คาดว่าจะเพิ่มมาอยู่ที่ 0.80-0.90% และมี ROE เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 65 เป็น 9% ในปี 66 จากความสามารถในการทำกำไรของแบงก์ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการตั้งสำรองฯ ที่ผ่อนคลายลง ทำให้ยังเห็นอัพไซด์ของหุ้นกลุ่มแบงก์อีกมาก
นอกจากนั้น ยังเป็นหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี โดยเฉพาะในปี 66 ธปท.ปลดล็อคให้กลับมาจ่ายเงินปันผลได้เต็มที่ หลังจากที่โดนควบคุมในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของเงินปันผลของหุ้นกลุ่มแบงก์ในปี 66 คาดว่าอยู่ที่ 4-5% ต่อปี
“หุ้นกลุ่มแบงก์ยังเป็น Sector ที่ดีต่อเนื่องในปี 66 ซึ่งล้อไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจและดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นหุ้น Blue chip ที่นักลงทุนควรมีติดไว้ในพอร์ต ในสัดส่วนที่เยอะ ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์หลายแง่มุมจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กลับมา” นายกรกช กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)
Tags: GDP, SME, กรกช เสวตร์ครุตมัต, การท่องเที่ยว, บล.กสิกรไทย, ปีกระต่าย, สินเชื่อ, หุ้นกลุ่มธนาคาร, หุ้นแบงก์, อสังหาริมทรัพย์, เศรษฐกิจไทย