ดัชนี Bloomberg Global Aggregate Bond sub-Indexes ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกได้เกิดภาวะ inverted yield curve เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว
ภาวะ inverted yield curve เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
“การที่ธนาคารกลางทั่วโลกวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเงินเฟ้อและพร้อมใจกันเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานนั้น ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดพันธบัตรโลกเกิดภาวะ inverted yield curve”
นักวิเคราะห์จากบริษัททีดี ซิเคียวริตีส์ในสิงคโปร์กล่าว
นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเนื่องจากเงินเฟ้อในยูโรโซนยังไม่ผ่านจุดพีก และในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 2 รายก็ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก และหลังจากนั้นควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี 2566 และตรึงยาวไปจนถึงปี 2567 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ และเพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
ขณะที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กกล่าวว่า ในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) กล่าวว่า เฟดยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากในการสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยแม้ว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดมีความคืบหน้าในการฉุดเงินเฟ้อให้ต่ำลง แต่เฟดยังจำเป็นต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)
Tags: inverted yield curve, พันธบัตร, เศรษฐกิจถดถอย