BCP เป้า EBITDA โตแตะ 7 หมื่นลบ.ปี 73 ทุ่มงบลงทุน 2 แสนลบ.ดัน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 73 เติบโตแตะ 70,000 ล้านบาท จากสิ้นปีนี้ที่คาดจะเติบโตมาที่ราว 40,000 ล้านบาท หลัง 9 เดือนของปี 65 มี EBITDA อยู่ที่ 37,773 ล้านบาท

การเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามการขยายตัวของ 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ภายหลังบริษัทได้ปรับวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์องค์กรเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs ได้แก่ Refocus เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด, Restructure การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

สำหรับสัดส่วน EBITDA ในปี 73 จะมาจากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ราว 50%, ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 18% และธุรกิจพลังงานไฟฟ้าภายใต้การดำเนินงานของ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ราว 10% ที่เหลือจะมาจากธุรกิจการตลาด ราว 6-8% และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 6-8%

ในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน EBITDA จากกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกกลุ่มยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน ปี 73 โดยจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรง SAF ซึ่งร่วมกันกับพันธมิตร 3 ราย เพื่อรวบรวมน้ำมันใช้แล้วมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปีจากนี้ ตั้งเป้ายอดขาย 1 ล้านลิตร/วัน

ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการขายน้ำมันยานยนต์คาดว่าจะปรับตัวลดลงเหลือ 40% ในปี 73 โดยยังคงรักษาระดับกำลังการกลั่นเท่าเดิมที่ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน และบริษัทจะไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นแล้วในช่วงที่เหลือของปีนี้รวมถึงปีหน้า แต่จะไปปิดซ่อมบำรุงอีกครั้งในปี 67-68

กลุ่มธุรกิจการตลาด วางเป้าขยายสถานีบริการน้ำมันบางจากเติบโตเป็น 1,900 แห่งในปี 73 จากปีนี้คาดทำได้ 1,340 แห่ง และมีแผนเพิ่มเป็น 1,410 แห่งในปี 66 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการขยายรูปแบบ Unique Design Service Station เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค อีกทั้งยังมีแผนขยายสาขาร้านกาแฟอินทนิลต่อเนื่อง โดยวางเป้าไว้ที่ 3,000 แห่งทั่วประเทศในปี 73 จากปีนี้จะอยู่ที่ 1,030 แห่ง และปีหน้าจะขยายเป็น 1,250 แห่ง

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานโดยบมจ.บีซีพีจี (BCPG) วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh จากปีนี้จะอยู่ที่ 1,100 GWh และปีหน้า 3,600 GWh โดยมีสัดส่วนหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศที่จะได้รับอานิสงส์จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP2022) ระหว่างปี 65-80 และการเติบโตในต่างประเทศตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด เสริมด้วยธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงานการให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่น ๆ

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้ BBGI ได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยเน้นการรุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) เพื่อนำมาออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภคสอดรับกับเทรนด์ของโลก เช่น good health and well–being นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีเป้าหมายการผลิตมากกว่า 100,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันภายในปี 73 จากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA ที่ BCP เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพในอนาคตอีกด้วย

ส่วนกลุ่มธุรกิจใหม่อื่นๆ บริษัทตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วน EBITDA กว่า 7,000 ล้านบาทภายในปี 73 จากธุรกิจที่กำลังพัฒนา อาทิ Winnonie ผู้นำแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ, ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และธุรกิจ New S-Curve ใหม่ๆ เป็นต้น

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนรวม 8 ปี (66-73) ไว้ที่ 200,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจกลุ่มบางจาก โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานสีเขียวและโรงกลั่น ซึ่งปี 66 จะใช้งบลงทุนในส่วนนี้ราว 40,000 ล้านบาท

ด้านแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 66 บริษัทคาดว่าจะยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากน้ำมันที่อยู่ในคลังสำรองเชิงยุทธศาตร์ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีมาหลังการดำเนินโครงการปล่อยน้ำมันสำรองยุทธศาตร์ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ของสหรัฐ ส่งผลทำให้อุปทานตึงตัว

“นับตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นมา กลุ่มบางจากได้ขยายสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) นอกเหนือไปจากธุรกิจที่เป็นรากฐานสำคัญ อย่างกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาด และมีความเป็นบริษัทสากลจากการดำเนินธุรกิจในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เปรียบเสมือนการเดินทางสู่บทใหม่ๆ ที่มีโอกาสแห่งการเติบโตมากมายรออยู่ นำมาสู่การปรับอัตลักษณ์องค์กรและการเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์องค์กรใบไม้ใบใหม่ สื่อความหมายแทนด้วยนวัตกรรมพลังงานที่ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างไม่สิ้นสุด” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ “ใบไม้ใบใหม่” เริ่มใช้ทดแทนตราสัญลักษณ์รูปใบไม้เดิมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.65 นี้เป็นต้นไป โดยการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์องค์กรใหม่นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริการทางธุรกิจใดๆ ของบริษัท อีกทั้งตราสัญลักษณ์ที่สถานีบริการบางจาก ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจการตลาดและสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ จะยังคงเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ จนกว่าจะมีการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top