ส่องบรรยากาศเอเปค จีน-ญี่ปุ่นฟื้นสัมพันธ์ เวียดนามหนุนเทคโนฯสีเขียว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานบรรยากาศการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยขณะนี้ผู้นำส่วนใหญ่ได้เดินถึงไทยแล้ว ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนซึ่งเดินทางมาถึงเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.)

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวเปิดการประชุมซีอีโอซัมมิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปค 2022 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth)” โดยการประชุมจะมุ่งเน้นเรื่องการกระตุ้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน

ในการประชุมเอเปคปีนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วม โดยหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่อินโดนีเซียแล้ว ปธน.ไบเดนได้เดินทางกลับไปยังทำเนียบขาวเพื่อเฉลิมฉลองพิธีสมรสของหลานสาวซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. และได้ส่งรองปธน.คามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมประชุมเอเปคแทน

* จุดเริ่มต้นที่ดีของการฟื้นฟูความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น

ปธน.สี จิ้นผิง และนายฟูมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มีโอกาสพบปะกันในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ผู้นำจีนและญี่ปุ่นได้พบปะพูดคุยกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็ยืนยันถึงความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ขณะที่ปธน.สีได้แสดงความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

“การพบกันในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การเจรจาในวันข้างหน้า เพื่อให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน” นายคิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่ได้พูดคุยกับปธน.สีเป็นเวลา 45 นาที

* “เอเชียแปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร”

ในการเดินทางร่วมประชุมเอเปคที่ประเทศไทยครั้งนี้ ปธน.สีได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ปธน.สีได้กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งถึงกลุ่มผู้บริหารธุรกิจว่า “เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันแย่งชิงอำนาจของประเทศใหญ่ ความพยายามที่จะก่อสงครามเย็นครั้งใหม่จะไม่มีทางได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือยุคสมัยของเรา”

ทั้งนี้ แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศ แต่วาทะดังกล่าวก็เข้าใจได้ว่ามุ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกัน พร้อมเตือนว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่ควรกลายเป็นสถานที่ที่จีนกับสหรัฐใช้เผชิญหน้ากัน

* ผู้นำชิลีเตือนอย่าทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นระบบประชานิยม

นายกาเบรียล บอริค ประธานาธิบดีชิลีกล่าวในระหว่างการประชุมซีอีโอซัมมิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปคว่า หัวใจสำคัญของการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นคือการปกป้องและฟื้นฟูประชาธิปไตย และไม่ควรมองข้ามสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน

“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นระบบประชานิยม ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ระบบเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการจัดสรรผลประโยชน์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยในโลกหลังยุคโควิดนั้น นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเผชิญความยากลำบากในการหาทางออกระยะยาวในวงจรการเลือกตั้งระยะสั้น”

* พลเอกประยุทธ์เรียกร้อง EU ฟื้นฟูข้อตกลง FTA

นายอนุชา บรูพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีเอมมานุเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ซึ่งในโอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ได้เรียกร้องให้นายมาครงสนับสนุนการฟื้นฟูการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EU)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า EU ได้ระงับการเจรจา FTA กับไทยในปี 2557 หลังจากเกิดการรัฐประหารในไทย อย่างไรก็ดี นายอนุชากล่าวว่า พลเอกประยุทธ์จะจัดตั้ง “กลไกการเจรจา” กับฝรั่งเศส เพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายในด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อความมั่นคง และจะกระชับความสัมพันธ์ทางทหารร่วมกัน

* ญี่ปุ่นใช้เวทีเอเปคอัดรัสเซียเล่าเรื่องเท็จ

นายโยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้ใช้เวทีการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเอเปคเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) เพื่อประณามรัสเซียที่ส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน

นายฮายาชิกล่าวว่า สงครามครั้งนี้ได้ทำลายเสถียรภาพของอุปทานอาหารและพลังงาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ เขายังได้แสดงท่าทีต่อต้านคำกล่าวของรัสเซียที่ว่า การที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงในขณะนี้เป็นเพราะมาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้ต่อรัสเซีย โดยนายฮายาชิกล่าวว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวของรัสเซียเป็นการเล่าเรื่องเท็จ

* เวียดนามผลักดันเทคโนโลยีสีเขียว

ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ผู้นำเวียดนามได้กล่าวในการประชุมซีอีโอซัมมิตของเอเปคว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความซับซ้อนและยากที่จะคาดเดา พร้อมกับกล่าวว่า เทคโนโลยีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยมลพิษลงเหลือศูนย์นั้น จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอนาคต

“โรงงานจำนวนมากของเวียดนามได้พากันลดการผลิต และมีบางแห่งปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามในยูเครน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของธุรกิจและการผลิตแบบดิจิทัล” ปธน.ฟุกกล่าว

* ผู้บริหาร KBANK คาดการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กนอกรอบการประชุมซีอีโอซัมมิตว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป

นางกอบกาญจน์คาดการณ์ว่า ผู้ประกอบการโรงแรม และธุรกิจท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อการอุปโภคบริโภค จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไทยซึ่งมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 12% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีสัดส่วน 1 ใน 5 ของการจ้างงานนั้น จำเป็นต้องกระจายตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากไปกว่าจีน เพื่อที่จะรักษาการเติบโตในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top