เฟดย้ำตรึงดอกเบี้ยต่ำจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว ชี้นำนโยบายการเงินให้ชัดเจน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 9-10 มิ.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นให้กับตลาดการเงิน เกี่ยวกับแนวทางในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ตลาดได้รับทราบข้อมูลมากขึ้นว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0% หรือต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ควรสื่อสารให้ตลาดรับรู้ “สัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน (Forward Guidance) เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการซื้อหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลัง และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) รวมทั้งให้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ”

รายงานการประชุมระบุ

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า การซื้อสินทรัพย์จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังเป็นเครื่องมือชั้นดีในการรักษาเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ให้อยู่ในแนวราบ ขณะที่กรรมการเฟดส่วนหนึ่งกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องผลักดันให้มีการใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ เช่น การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ซึ่งจะช่วยควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว

ทั้งนี้ รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดกำลังพิจารณาทบทวนคำมั่นสัญญาที่เฟดให้ไว้ในยุคที่เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะตกต่ำครั้งใหญ่ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าสภาวะต่างๆ เป็นไปตามที่เฟดกำหนดไว้ โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นจากภาวะถดถอยที่มีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

กรรมการเฟดส่วนใหญ่ส่งสัญญาณว่าจะสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงนโยบายการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เข้ากับข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับมาอย่างเฉพาะเจาะจง โดยกรรมการเฟดหลายคนสนับสนุนคำมั่นสัญญาที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมายหรือสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% แต่ก็มีกรรมการเฟดบางคนมองว่า ควรจะเชื่อมโยงการแนวทางการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเข้ากับอัตราว่างงานอย่างเฉพาะเจาะจง และมีกรรมการเพียงไม่กี่คนที่ต้องการให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนั้น มีการกำหนดวันสิ้นสุดที่เฉพาะเจาะจง เหมือนกับที่เฟดเคยใช้แนวทางดังกล่าวในช่วงปี 2555-2556

ขณะที่กรรมการเฟดบางคนเตือนว่า การที่เฟดให้คำมั่นว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานนั้น อาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านการเงิน

ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการยังได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยกรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 และยังระบุว่า มีความเสี่ยงที่มาตรการการคลังในการให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลท้องถิ่น อาจจะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเผชิญภาวะทรุดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 9-10 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยืนยันว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคา

ขณะเดียวกัน เฟดจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 6.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะดีดตัวขึ้น 5% ในปี 2564 และเฟดยังส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% จนถึงปี 2565

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top