ในสัปดาห์นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับบทเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญสองรายการไล่เลี่ยกันได้แก่ การประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. และการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. โดยการประชุมระดับผู้นำเอเปคจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. และการประชุมเอเปคครั้งนี้เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
ในห้วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อพุ่งสูง ภาวะโลกร้อน สถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกต่างหวังให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ได้ใช้เวทีเหล่านี้ในการพบปะพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การประชุมเหล่านี้ซึ่งเดิมทีจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นเวทีการเมืองของประเทศมหาอำนาจไปโดยปริยาย
สี-ไบเดน พบหน้ากันครั้งแรก
ทั่วโลกต่างจับตาการพบกันระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อเดือนม.ค. 2564 หลังจากที่ทั้งคู่เคยพูดคุยผ่านวิดีโอและโทรศัพท์มาแล้ว 5 ครั้ง โดยผู้นำทั้งสองได้พบกันเมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) หรือหนึ่งวันก่อนที่การประชุม G20 จะเปิดฉากขึ้น ในระหว่างการประชุมนาน 3 ชั่วโมง จีนได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นไต้หวัน โดยปธน.สีกล่าวต่อปธน.ไบเดนว่า ประเด็นไต้หวันถือเป็น “แก่น” ของผลประโยชน์หลักของจีน และเป็น “เส้นแดงเส้นแรก” ที่สหรัฐไม่อาจล้ำเส้นได้ ด้านปธน.ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐยังคงยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจุดยืนต่อไต้หวัน นอกจากนั้น ยังเตรียมส่งนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เดินทางไปเยือนจีนเพื่อสานต่อการเจรจาทวิภาคี โดยอาจมีขึ้นในช่วงต้นปี 2566
ปูติน-เซเลนสกี อาจร่วมประชุมออนไลน์
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ก่อให้เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานในระดับโลก ซึ่งสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อการประชุม G20 ครั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ปฏิเสธแรงกดดันจากนานาชาติที่ให้แบนรัสเซียจากการประชุม G20 ทั้งยังเดินทางไปรัสเซียและยูเครนเพื่อเชิญผู้นำทั้งสองประเทศให้มาพูดคุยกันในการประชุม ถึงแม้ว่ายูเครนจะไม่ใช่สมาชิก G20 ก็ตาม แต่ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุม ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง และส่งนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเข้าร่วมการประชุมแทน แม้ว่าคู่นี้จะไม่ได้มาเจอกันตัวต่อตัว แต่สำนักข่าว RIA ของทางการรัสเซียรายงานว่า ปธน.ปูตินอาจเข้าร่วมการประชุมผ่านทางออนไลน์ ส่วนโฆษกของประธานาธิบดียูเครนก็เปิดเผยว่า นายเซเลนสกีอาจเข้าร่วมการประชุมออนไลน์เช่นกัน
จีนครองสปอตไลต์การประชุมเอเปค
เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม G20 ที่บาหลี ปธน.สี จิ้นผิง จะเดินทางมาร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทย ส่วนปธน.ไบเดนมอบหมายให้นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาร่วมการประชุมแทน ขณะที่ปธน.ปูตินก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน และส่งนายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เข้าร่วมการประชุมแทน ดังนั้นสปอตไลต์จะส่องมาที่ปธน.สี จิ้นผิงอย่างเต็มที่แน่นอน นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำสหรัฐคิดผิดที่ปล่อยให้จุดสนใจไปอยู่ที่ผู้นำจีนเพียงคนเดียว แถมยังทำให้เกิดความรู้สึกว่าสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่ากับจีน เพราะปธน.ไบเดนเลือกไปงานแต่งงานของหลานสาวแทนที่จะเข้าร่วมการประชุมเอเปค แม้ว่าเขาจะเข้าร่วมการประชุม G20 ที่บาหลี แต่การประชุมเอเปคมีความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มากกว่า การที่สหรัฐซึ่งเป็นประเทศห่างไกลทำตัวห่างเหินแบบนี้ ยิ่งเปิดโอกาสให้จีนที่อยู่ใกล้กว่าขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น
ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ คาดว่าปธน.สี จิ้นผิง จะกล่าวสุนทรพจน์ที่เน้นย้ำถึงความร่วมมือและการเติบโตร่วมกันของทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับในรายงานที่นำเสนอในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่ผู้นำจีนได้เน้นย้ำว่า จีนยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพของโลกและการพัฒนาร่วมกันมาโดยตลอด และอุทิศตนเพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
ความจริงแล้วทั้งการประชุม G20 และเอเปคต่างก็เป็นเวทีเศรษฐกิจที่ไม่ควรมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีกระแสคาดการณ์ว่าหลายชาติอาจนำความไม่พอใจที่มีต่อรัสเซียมาลงในการประชุม G20 โดยอาจมีการเดินออกจากที่ประชุม และคาดว่าอาจไม่มีการถ่ายรูปหมู่ของบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม หลังจากที่ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมในการประชุมรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ก่อนหน้านี้
ย้อนกลับไปในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อเดือนพ.ค. ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ก็เกิดเหตุการณ์ผู้แทนจาก 5 ประเทศวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมระหว่างที่ผู้แทนรัสเซียกำลังกล่าวถ้อยแถลง ทำให้ต้องมีการออกแถลงการณ์ของประธาน (Chairman Statement) แทนการออกแถลงการณ์ร่วม ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปคในเดือนต.ค. ก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากยังมีความเห็นต่างในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน จึงออกเป็นแถลงการณ์ของประธานเช่นกัน และสำหรับการประชุมผู้นำเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ก็อาจลงเอยในลักษณะเดียวกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 65)
Tags: APEC, G20, In Focus, ประชุม G20, ประชุมเอเปค, เศรษฐกิจ