- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,173 คน (+2)
- เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 2 ราย
- ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 37
- รักษาหายแล้ว 3,059 คน (+3)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 56 คน (-1)
- เสียชีวิตสะสม 58 คน (+0)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่พักอยู่ใน State Quarantine ส่วนในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง 37 วัน
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,173 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 236 ราย วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มอีก 3 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,059 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 56 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นชายไทยทั้ง 2 ราย อายุ 47 และ 48 ปี อาชีพรับจ้าง โดยเดินทางกลับมาจากประเทศคูเวตถึงไทยวันที่ 29 มิ.ย. โดยทั้ง 2 รายผ่านด่านคัดกรอง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่ามีอาการคือ ไอ และมีไข้ จึงส่งตรวจในวันดังกล่าวพบว่าติดเชื้อ
“คูเวต ถือเป็นประเทศต้นทางที่มีคนไทยเดินทางกลับเข้ามาแล้วพบอัตราการป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยจากข้อมูลพบว่า มีคนไทยเดินทางกลับมาจากคูเวตแล้ว 293 คน และมีการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 38 คน คิดเป็น 12.29%” โฆษก ศบค.ระบุ
สถานการณ์ในต่างประเทศที่น่าสนใจ ขณะนี้พบว่าสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่จะเปิดให้เดินทางเข้าไปใน EU ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 รวม 14 (+1) ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ EU ได้คัดเลือกโดยใช้เกณฑ์เดียวกันหมดเป็นปัจจัยหลักในการตัดสิน คือ จำนวนผู้ป่วยในรอบ 14 วัน, แนวโน้มการติดเชื้อ และแนวทางของรัฐบาลแต่ละประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาด
ส่วนประเทศที่เหลือ ได้แก่ จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, เซอร์เบีย, มอนต์เตเนโกร, จอร์เจีย, โมรอกโก, ตูนิเซีย, แอลจีเรีย, อุรุกวัย และชวันดา
สำหรับความคืบหน้าการลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ข้อมูลถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 พบว่ามีผู้ใช้งานแล้ว 32.49 ล้านคน ร้านค้า/กิจการลงทะเบียนแล้ว 251,700 ร้าน มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นไทยชนะทั้งระบบ iOS และแอนดรอยรวม 495,118 คน ทั้งนี้มีสัดส่วนการเช็คอิน/เช็คเอาท์ ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ 54.6% และผ่านแอปไทยชนะ 85.6%
นพ.ทวีศิลป์ ยังได้ชี้แจงถึงกรณีการจัดแข่งขันชกมวยที่สนามมวยหรือเวทีมวยต่างๆ ว่า แมัจะมีการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ซึ่งอนุญาตให้มีการจัดแข่งขันชกมวยได้แล้วนั้น แต่ยังคงห้ามไม่ให้มีผู้เข้าชม เนื่องจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมีต้นตอจากกองเชียร์ หรือผู้เข้าชมเป็นสำคัญ
“ให้จัดแข่งได้ แต่ห้ามไม่ให้มีคนดู เพราะความเสี่ยงอยู่ที่กองเชียร์ การจัดแข่งชกมวยนี้ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นผู้กำหนดมาตรการต่างๆ ถ้าจะมีการจัดแข่งขัน ก็ให้ไปขออนุญาตหรือปรึกษากับต้นทาง” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
สำหรับความพร้อมไทยในการเตรียมรองรับกับการเดินทางของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศนั้น ในด้านของสาธารณสุขมีความพร้อมของจำนวนเตียงในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศรวมกันกว่า 2 หมื่นเตียง ตลอดจนความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ทั้งในส่วนของหน้ากาก N95 กว่า 1.12 ล้านชิ้น, ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) กว่า 5 แสนชุด และเครื่องช่วยหายใจที่ยังว่างอยู่กว่า 1 หมื่นเครื่อง ขณะที่ยาฟาวิพิลาเวียร์ ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาโควิด-19 ยังมีในสต็อกอีกกว่า 3 แสนเม็ด ซึ่งสามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยได้ถึง 4,500 คน นอกจากนี้มียาประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
“โดยหลักการแล้ว คนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เราต้องสงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่ประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่ต้องจัดการตามกฎหมายที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มี 3 ระดับ คือ 1.การแยกกัก 2.การกักกัน และ 3.การคุมไว้สังเกต…3 ข้อนี้ เป็นมาตรการที่เราใช้บังคับมาตลอด ซึ่งจะช่วยทำให้เรามั่นใจว่าคนไทยในประเทศกว่า 60 ล้านคน จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ส่วนกรณีการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยตามการผ่อนปรนของ ศบค.นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 12) สำหรับผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ได้จัดแบ่งกลุ่มไว้ทั้งหมด 11 กลุ่ม ประกอบด้วย
- ผู้มีสัญชาติไทย
- ผู้มีเหตุยกเว้น (แขกของรัฐบาล)
- บุคคลในคณะทูต
- ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น (จากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาส่งสินค้าแล้วกลับไป)
- ผู้ควบคุมยานพาหนะ
- ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรส
- ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
- ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน
- ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในประเทศ รวมผู้ปกครอง
- ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทย
- ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ
โดยทั้ง 11 กลุ่มนี้จะมีมีการกักตัวหรือในระดับหรือสถานที่ที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้าประเทศ เช่น การกักตัวใน State Quarantine, Local Quarantine, Alternative Quarantine, Home Quarantine, Self Quarantine, Hospitel, Closed Observation, Organizational State Quarantine และ Hospital Quarantine เป็นต้น
“ตอนแรกที่เคยบอกว่า มี 6 กลุ่ม แล้วเข้ามาได้ไม่เกินวันละ 200 คน ใน 4 ประเทศอีก 1 เขตปกครองพิเศษนั้น ยกไปทั้งหมด วันนี้ขอยึดตามที่ประกาศในราชกิจจาวันที่ 30 มิ.ย.63…เพราะฉะนั้น 11 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มหลัก ที่ทำให้เราเห็นภาพการเดินทางไปมาของคนไทย คนต่างประเทศ หลายคนถามว่านี่เท่ากับ travel bubble หรือไม่ ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่คำว่า travel bubble ถูกใช้มาก และกลัวว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ แต่ travel bubble อาจจะรวมถึง 11 กลุ่มนี้ด้วยก็ได้ ดังนั้นเพื่อกันการสับสน จึงย่อยออกมาเป็น 11 กลุ่ม และจะขอใช้คำว่า travel bubble ให้น้อยลง เพื่อให้เข้าใจว่าทาง ศบค.คิดกันอย่างละเอียด อย่างดี เพื่อติดตามทุกคนที่เข้าประเทศไทย เพื่อรักษาสถานภาพที่ 0 คนให้ได้นาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ขณะที่วันนี้เป็นวันแรกของการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ให้แก่กิจการร้านค้าในกลุ่มสีแดงที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง เช่น สถานบันเทิง, ผับ, บาร์, คาราโอเกะ, อาบอบนวดนั้น นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า หากสถานประกอบการใดยังมีข้อสงสัยถึงแนวทางการปฏิบัติ เพื่อไม่ต้องการให้ขัดต่อกฎหมาย สามารถไปดาวน์โหลดแนวทางการปฏิบัติของสถานประกอบการได้จากคำสั่งของ ศบค. ฉบับที่ 5 ตามมาตรา 9
“อยากให้ผู้ประกอบการไปดาวน์โหลดเก็บไว้ จะมีตารางบอกว่ากิจการของท่านคืออะไร เปิดดำเนินการได้ถึงเวลาใด มีมาตรการควบคุมหลัก และต้องอ่านมาตรการเสริมด้วย ซึ่งจะมีการระบุรายละเอียดลงไปชัดเจนมากขึ้น” โฆษก ศบค.ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19