นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์การค้าและการส่งออกอาหารจากพืช (แพลนต์เบส ฟู้ด) และโอกาสทางการค้าของไทยว่า ในปี 64 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ มูลค่า 2,852 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้ากลุ่มใหญ่สุดที่ส่งออก คือ เครื่องดื่มอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง นมจากธัญพืช ฯลฯ 1,502 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 52.7% ของการส่งออกสินค้าแพลนต์เบสของไทยไปโลก ตลาดส่งออกสำคัญ คือ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา จีน และลาว
ส่วนอันดับ 2 คือ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้ ครีมเทียม ฯลฯ 1,347 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 47.2% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ จีน เมียนมา ญี่ปุ่น และกัมพูชา, อันดับ 3 โปรตีนเข้มข้นและสารเทกซ์เจอร์โปรตีน เช่น ผงโปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช 2.3 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 0.1% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และเมียนมา ตามลำดับ
สำหรับอาหารปรุงแต่งอื่นๆ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ครีมเทียม ที่ปี 64 ส่งออกได้ 323 ล้านเหรียญฯ หากพัฒนาครีมเทียมจากพืชได้ จะตอบโจทย์ตลาดที่มีความต้องการโปรตีนจากพืชมากขึ้น ขณะที่นมมะพร้าวออร์แกนิก การส่งออกของไทยเติบโตต่อเนื่อง จาก 14,000 ล้านเหรียญ และ 700,000 ล้านเหรียญฯในปี 62 และปี 63 ตามลำดับ เป็น 5.3 ล้านเหรียญฯ ในปี 64 ส่วนเต้าหู้ มูลค่าส่งออกคงตัวที่ 2 – 3.5 ล้านเหรียญฯต่อปี
ขณะที่กลุ่มโปรตีนเข้มข้นและสารเทกซ์เจอร์โปรตีน ไทยยังมีมูลค่าการส่งออกน้อย สามารถพัฒนาศักยภาพการส่งออกและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะกลุ่มผงโปรตีนจากพืชได้อีกมาก นอกจากนี้ ตลาดสินค้าอาหารพร้อมทาน ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ที่ปี 64 มีมูลค่าตลาด 513 ล้านเหรียญฯ ไทยสามารถนำเสนออาหารไทย โดยใช้วัตถุดิบ เครื่องปรุง เครื่องเทศ สมุนไพรของไทย ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค สอดคล้องกับสังคมสูงวัย และกระแสรักสุขภาพ
“ไทยมีความเข้มแข็งในการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มอื่นๆ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่ส่งออกได้ 1,953 ล้านเหรียญฯ และไทยส่งออกนมถั่วเหลืองเป็นหลัก แต่ยังมีโอกาสที่ไทยจะพัฒนาสินค้านมจากพืชให้หลากหลาย และช่วยสนับสนุนภาคเกษตรไทย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์นมที่ทำจากพืช เช่น เนย ชีส โยเกิร์ต และไอศกรีม ได้อีกด้วย”
ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์ตลาดแพลนต์เบส ฟู้ดของโลก พบว่า ในปี 73 แพลนต์เบส ฟู้ดจะมีสัดส่วนประมาณ 7.7% ของแหล่งโปรตีนในตลาดโลก และมีมูลค่า 162,000 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่มีมูลค่า 29,400 ล้านเหรียญฯ จึงเป็นโอกาสของไทยที่ผลิตอาหารกลุ่มนี้ป้อนตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ในการส่งออก ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงถึงกฎระเบียบของแต่ละประเทศด้วย โดยเฉพาะการติดฉลาก ที่บางประเทศไม่ให้ฉลากอาหารจากพืชใช้ชื่อที่สื่อถึงความเป็นเนื้อสัตว์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 65)
Tags: Plant based, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์, ส่งออก, แพลนต์เบส