นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) จำนวน 9 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 2.มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) 4.มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) 5.มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ 6.มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainability 7.มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs 8.มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และ 9.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม
“ทั้ง 9 มาตรการ มีทั้งการปรับปรุงมาตรการเดิมให้ตรงเป้ามากขึ้น ลดความซับซ้อน และเพิ่มมาตรการใหม่ๆ เช่น มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) และมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) ถือเป็นมาตรการเชิงรุก เพื่อตอกย้ำการเป็นฐานการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ และศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยจุดแข็งของไทยที่สามารถเข้าไปตอบโจทย์ความท้าทายของโลกที่เกิดขึ้น ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร การเป็นแหล่งพลังงานสะอาด และการมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการลงทุนในอนาคต รวมถึงออกมาตรการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคเพิ่มเติม เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมาตรการและสิทธิประโยชน์ที่ปรับใหม่ในครั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2566” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ บีโอไอได้ปรับเปลี่ยนหมวดกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนจาก 7 เป็น 10 หมวดกิจการ เพื่อให้สะท้อนทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ชัดเจนขึ้น เช่น กลุ่ม BCG กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์กลุ่ม A1+ สำหรับอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เช่น ต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ และกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-13 ปี
รวมทั้งได้เพิ่มประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใหม่ เช่น กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles: FCEV) กิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง กิจการสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) กิจการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ เป็นต้น
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บอร์ดบีโอไอยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคต่างๆ สำหรับการลงทุน โดยเฉพาะกรณีนักลงทุนรายสำคัญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น อุปสรรคเชิงนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจต่างๆ ด้านที่ตั้งสถานประกอบการ หรือด้านแรงงานและบุคลากรทักษะสูง เพื่อเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่ นำไปสู่การเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืนในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 65)
Tags: นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์, บีโอไอ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี, เศรษฐกิจไทย