ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามการเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เป็น “A/Stable” จากเดิม “A-/Stable” ในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นี้
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Standalone Credit Profile – SACP) ยังคงอยู่ที่ระดับ “bbb+” โดยอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A” ซึ่งสูงกว่าอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอยู่ 2 ขั้นนั้นสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ BCP
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงรายได้ที่แน่นอนและสินทรัพย์โรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีการกระจายตัวเป็นอย่างดี ในทางกลับกัน ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนโดยความเสี่ยงในการบริหารงานโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย (Execution Risk) และระดับภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะสูงขึ้นเพื่อการสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– เป็นบริษัทย่อยหลักของ BCP ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ BCP เนื่องจากทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีส่วนที่สำคัญต่อกลยุทธ์ในอนาคตของ BCP โดยปัจจุบัน BCP ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 57.4% และมีอำนาจควบคุมกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทโดยผ่านทางคณะกรรมการบริษัท รวมถึงคณะกรรมการการลงทุน และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
บริษัทเป็นหน่วยธุรกิจซึ่งมีหน้าที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนให้แก่ BCP ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์การขยายไปยังธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนและส่งเสริมความยั่งยืนของกลุ่มบางจากต่อไป อีกทั้งบริษัทจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของกลุ่มอีกด้วย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในจำนวนมากพอสมควรให้แก่ BCP ซึ่งการมีกระแสเงินสดที่มั่นคงนั้นช่วยให้บริษัทสามารถลดความผันผวนในธุรกิจโรงกลั่นของ BCP ได้เป็นอย่างมาก
– การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีการกระจายตัวดี ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ดำเนินงานแล้วจำนวน 32 โครงการด้วยกำลังการผลิตตามสัญญารวมตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทที่ขนาด 390 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 65% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 29% และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 6%
โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใน 4 ประเทศคือ ไทย (47%) ญี่ปุ่น (20%) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) (29%) และฟิลิปปินส์ (4%) ทริสเรทติ้งมองว่ากลยุทธ์การลงทุนของบริษัทที่มีการกระจายตัวดีจะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บริษัทได้ทั้งในแง่ของประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุนและมีแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้
– มีกระแสเงินสดที่มั่นคง รายได้ที่มั่นคงของบริษัทมาจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และผู้รับซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือหลาย ๆ รายในประเทศญี่ปุ่น
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นส่วนหลักในการสร้างรายได้ของบริษัทโดยคิดเป็นประมาณ 80% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานแล้ว โดยกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นสามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการที่มีราคาค่าไฟฟ้าที่แน่นอนและมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ
– กำลังการผลิตใหม่ช่วยลดแรงกดดันจากการหมดอายุของค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม กำลังการผลิตรวมตามสัญญาของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยทั้งหมดที่จำนวน 176 เมกะวัตต์นั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%-70% ของ EBITDA ทั้งหมดของบริษัท โดยมีจำนวน 133 เมกะวัตต์ที่ได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) ในช่วง 10 ปีแรกหลังจากเปิดดำเนินงาน ซึ่งคิดเป็นรายได้จากค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ในส่วนนี้จะค่อย ๆ ทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเมื่อค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มของโรงไฟฟ้าบางส่วนของบริษัททยอยหมดอายุลง โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทในส่วนนี้จะลดลงอย่างมากในปี 2567 และจะหมดไปในปี 2568 เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทได้เตรียมความพร้อมโดยการซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว ไว้แล้วจำนวน 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 114 เมกะวัตต์และเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นอีกจำนวน 3 แห่ง (รวม 65 เมกะวัตต์) ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทที่ประมาณ 1.6-1.8 พันล้านบาทต่อปีเมื่อดำเนินงานเต็มปี
– ยังคงขยายสินทรัพย์โรงไฟฟ้าต่อไป บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นอีก 719 เมกะวัตต์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ใน สปป. ลาว และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกหลายแห่งในไต้หวัน ปัจจุบันบริษัทมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ “Monsoon” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกใน สปป. ลาว โดยโครงการมีขนาด 600 เมกะวัตต์และจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าประเทศเวียดนาม (Vietnam Electricity — EVN) ภายในสิ้นปี 2568 โครงการดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่บริษัทที่จำนวนราว ๆ 230 เมกะวัตต์เมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นในสัดส่วน 38% ของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกหลายแห่งในไต้หวันซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มกำลังการผลิตรวมจำนวน 469 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2566-2567 ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจากโอกาสในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการใหม่ ๆ ภายในประเทศจะเริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
– มีการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต บริษัทกำลังขยายไปสู่ธุรกิจสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้ลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนด้วยการซื้อหุ้น 25% ใน Nam Tai Hydropower Sole Co., Ltd. (Nam Tai) บริษัทจะชำระเงินด้วยการโอนรายการลูกหนี้การค้าที่มีกับการไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos — EDL) ให้แก่ผู้ขายรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกัน บริษัทจะได้รับสิทธิ์ในทางเศรษฐกิจ (Economic Rights) จำนวน 50% ในระบบสายส่งซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการจำหน่ายไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ไปยังประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ธุรกรรมดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในแผนธุรกิจของบริษัทที่จะเปลี่ยนผู้รับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งคือ “Nam San 3A” และ “Nam San 3B” จาก EDL มาเป็น EVN อีกด้วย
นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวไปแล้ว ทริสเรทติ้งยังมีสมมติฐานว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนอีกราว 6.3 พันล้านบาทสำหรับการซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานอยู่แล้วในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งจะช่วยเร่งกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทเนื่องจากโครงการเหล่านี้จะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที
เมื่อพิจารณาจากนโยบายวินัยทางการเงินของบริษัทแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่งขายผลประโยชน์ทั้งหมดในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซียไป โดยบริษัทได้รับเงินสดจำนวน 1.45 หมื่นล้านบาทและจะรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนเป็นจำนวน 2 พันล้านบาท การขายเงินลงทุนดังกล่าวช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ตามแผนงานของบริษัท
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจพิจารณาขายเงินลงทุนในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันออกไปบางส่วนเพื่อช่วยลดภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่ขยายกำลังการผลิต ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะจ่ายเงินสุทธิรวมทั้งสิ้นที่ราว ๆ 3.75 หมื่นล้านบาทสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนอื่น ๆ ในระหว่างปี 2565-2568
– ความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา กำไรในอนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการพัฒนาโครงการเป็นสำคัญ ในช่วงที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ บริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ทั้งนี้ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมมักมีความเสี่ยงในการก่อสร้างค่อนข้างสูงจากการออกแบบและการก่อสร้าง โดยความล่าช้าในการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายที่เกินกว่างบประมาณอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อความเป็นไปได้ของโครงการ
นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัทในโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านทรัพยากรที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำเป็นหลักซึ่งอาจมีความแปรปรวนเป็นอย่างมากในแต่ละปี ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมก็มีความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายของกลไกเครื่องจักรกลในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยังขึ้นอยู่กับปริมาณและความเร็วของกระแสลมอีกด้วย
– รายได้และภาระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาโครงการและซื้อกิจการได้ตามแผนการที่วางไว้และโรงไฟฟ้าของบริษัทน่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไป ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ราว 5.4 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.4-7.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2567-2568 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมี EBITDA ที่ระดับ 3.6 พันล้านบาทในปี 2565 และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 6 พันล้านบาทต่อปีภายในปี 2568 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ราว 7-8 เท่าในช่วงปี 2566-2568 และคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุนจะอยู่ที่ระดับ 50%-57% ในระหว่างปี 2566-2568
– มีสภาพคล่องที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งประเมินว่าปัจจุบันบริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (วงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้และวงเงินที่ไม่มีภาระผูกพัน) ประมาณ 1.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 2.2 พันล้านบาทในปี 2565 ดังนั้น เงินสดและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ตลอดจนเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ไว้จะเพียงพอสำหรับการชำระเงินกู้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดราว 3.9 พันล้านบาทได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
– โครงสร้างหนี้สิน ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้ตามงบการเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.57 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 7.5 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมของบริษัทย่อย ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 29%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในช่วงปี 2565-2568 ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัทจะเป็นดังนี้
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย : 13%-20%
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น : 11%-15%
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน : 16%-17%
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว : 48%-50%
ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมถึงการลงทุนสุทธิจะอยู่ที่จำนวน 3.75 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2565-2568
กำลังการผลิตติดตั้งรวมจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1,038 เมกะวัตต์ในปี 2568
อัตรา EBITDA จะอยู่ที่ประมาณ 67%-84% ในช่วงปี 2565-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเอาไว้ได้โดยที่การก่อสร้างและการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ นั้นคาดว่าจะสำเร็จได้ตามแผน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทและกระแสเงินสดต่อภาระหนี้จะอยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ตลอดระยะเวลาในการขยายธุรกิจของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ลงได้อย่างมีสาระสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงไปจากที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากการก่อหนี้เพื่อการลงทุนในระดับสูง
ทั้งนี้ ภายใต้ “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจะขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตองค์กรของ BCP ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับอันดับเครดิตของ BCP ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในทิศทางเดียวกันได้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มบางจากนั้นอ่อนแอลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 65)
Tags: BCP, BCPG, ทริสเรทติ้ง, บางจาก คอร์ปอเรชั่น, บีซีพีจี, หุ้นไทย, อันดับเครดิต