TTB ซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 จากตลาดต่างประเทศ มูลค่าไม่เกิน 120 ล้านเหรียญฯ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งธนาคารได้ออกและเสนอขายในตลาดต่างประเทศ โดยจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อคืนเป็นการทั่วไป หรือ Tender Offer เพื่อซื้อคืนตราสารหนี้บางส่วน (Partial Repurchase) ตามแผนการบริหารการจัดหาเงินทุนของธนาคาร

ทั้งนี้ การทำคำเสนอซื้อคืนเป็นการทั่วไป (Tender Offer) จะอยู่ในระหว่างวันที่ 26 ต.ค.-3 พ.ย. 65 เพื่อซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ที่มีชื่อว่า US$400,000,000 4.90 per cent. Perpetual Additional Tier 1 Capital Securities (จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์) เป็นมูลค่าไม่เกิน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนเงินต้นรวมทั้งหมดของตราสารหนี้ AT1 ซึ่งเมื่อรวมกับการซื้อคืนบางส่วนจากตลาดรองในต่างประเทศ (Open Market Repurchase) ในช่วงก่อนหน้า จำนวนรวม 28,960,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 7.24% ของจำนวนเงินต้นรวมทั้งหมด จะรวมเป็นมูลค่าการซื้อคืนทั้งสิ้นไม่เกิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 37.50% ของจำนวนเงินต้นรวมทั้งหมด

นายปิติ กล่าวว่า การซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือตราสารหนี้ AT1 ในครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การจัดหาเงินทุน หรือ Funding strategy ของธนาคาร ซึ่งได้พิจารณาแล้วว่า ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารต้นทุนการจัดหาเงินทุน โดยในกรณีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการออกตราสารหนี้และหนุนให้ภาพรวมการบริหารต้นทุนการจัดหาเงินทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สิ่งที่ธนาคารสำคัญ คือ ให้ความสำคัญกับการดำรงฐานะเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด หนุนโดยการสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ดังนั้น ฐานเงินกองทุนในปัจจุบันจึงอยู่ในระดับสูง การซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ในจำนวนดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระดับเงินกองทุนอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 ธนาคารรายงานอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ที่ 20.0% และ 16.0% เพิ่มขึ้นจาก 19.3% และ 15.3% ณ สิ้นไตรมาส 4/64 ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคารไทย และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top