สปสช.เพิ่มบริการการแพทย์ทางไกลดูแล 42 กลุ่มโรคผ่านแอปฯสุขภาพ นำร่องพื้นที่ กทม.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว และมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างรวมถึงต่อระบบสุขภาพ ส่งผลให้เกิด “บริการสาธารณสุขระบบทางไกล” หรือ “บริการการแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดความแออัดหน่วยบริการ ลดเวลารอคอย และอำนวยความสะดวกในการรับบริการสอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

ที่ผ่านมา สปสช.ได้เล็งเห็นประโยชน์ต่อผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ในปีงบประมาณ 2563 บอร์ด สปสช.จึงได้เห็นชอบบรรจุ “บริการแพทย์ทางไกล” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา สปสช.ยังได้จับมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เพื่อช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรับบริการที่โรงพยาบาล

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า จากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบการแพทย์ทางไกลที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช. ขยายการให้ “บริการการแพทย์ทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอกทั่วไป” (OP Telemedicine) ครอบคลุมรักษา 42 กลุ่มโรคและอาการ โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology (กู๊ด ด็อกเตอร์) โดยจีดีทีคลินิกเวชกรรม 2.แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม 3.แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม และ 4.แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม เพื่อเป็นการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท เบื้องต้นกำหนดนำร่องบริการให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเป็นโรคทั่วไปเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ “บริการการแพทย์ทางไกล” ที่ สปสช. ดำเนินการนี้เป็นการให้บริการด้านสุขภาพที่มีมาตรฐานบริการ โดยผู้ที่ร่วมให้บริการจะต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล (ส.พ.7) ที่ระบุ “มีการบริการการแพทย์ทางไกล” และสามารถให้บริการการแพทย์ทางไกลได้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ.2564 ของกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมมีระบบพิสูจน์ตัวตนยืนยันการใช้สิทธิผู้ป่วยก่อนรับบริการ มีแพทย์ที่พร้อมให้บริการและมีระยะเวลาของการให้บริการประมาณ 10 -15 นาทีต่อครั้ง หรือจนกว่าแพทย์จะสามารถวินิจฉัยและสั่งการรักษาได้

นอกจากนี้ผู้ให้บริการต้องมีร้านยาเครือข่ายบริการที่จัดส่งยาพร้อมทั้งให้คำแนะนำและติดตามการใช้ยาให้กับผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมที่สภาเภสัชกรรมกำหนด โดยส่งยาถึงผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับบริการ

ในส่วนของหน่วยบริการนั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า มีการจัดระบบ AMED Telehealth ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ทางไกลที่ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รองรับ เพื่อให้ผู้ให้บริการฯ บันทึกข้อมูลการให้บริการผู้ป่วย และข้อมูลใช้ในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการจาก สปสช. ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับตรวจวินิจฉัยและให้คำปรึกษาผ่านบริการการแพทย์ทางไกล ค่ายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วย ทั้งนี้คาดว่าระบบจะมีความพร้อมและให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ โดย สปสช.จะประกาศและแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

“บริการแพทย์ทางไกลเป็นบริการสุขภาพวิถีใหม่ที่มาหนุนเสริมระบบสุขภาพหลัก โดยให้บริการรักษาพยาบาลในระดับบริการปฐมภูมิ นอกจากเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังเพิ่มความสะดวก ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้บริการแพทย์ทางไกลครอบคลุม 42 กลุ่มโรคและอาการ ดังนี้ 1.ข้อเสื่อมหลายข้อ 2.ตาแดงจากไวรัส 3.ตาแดงจากไวรัส ที่มิได้มีรหัสระบุรายละเอียด 4.ข้อเสื่อมโดยทั่วไปปฐมภูมิ 5.เนื้อเยื่ออักเสบ 6.วิงเวียน มึน 7.ปวดศีรษะ 8.อาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียอื่น 9.อาการท้องร่วง 10.กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ 11.ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 12.ความผิดปกติของระบบการทรงตัวของหู 13.โรคตากุ้งยิงและตุ่มอักเสบเรื้อรังที่หนังตา 14.การอักเสบของเยื่อบุตา 15.การติดเชื้อไวรัส ที่มิได้ระบุรายละเอียด 16.กล้ามเนื้อเคล็ด 17.ติดเชื้อไวรัสไม่ระบุตำแหน่งที่เป็น 18.ข้ออักเสบข้อเดียว ที่มิได้มีระบุรายละเอียด 19.เยื่อบุจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน(หวัดธรรมดา) 20.ไข้ ไม่ระบุชนิด

21.เวียนศีรษะบ้านหมุนเฉียบพลัน แบบไม่รุนแรง 22.ปวดท้องช่วงบน 23.การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลันหลายแห่งพร้อมกัน 24.ลมพิษ 25.ปวดท้อง และปวดอุ้งเชิงกราน 26.เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด 27.ลมพิษ ที่มิได้ระบุรายละเอียด 28.ปวดหลังส่วนล่าง 29.คออักเสบเฉียบพลัน 30.ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

31.คออักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด 32.การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลัน 33.กระเพาะอาหารอักเสบ ที่มิได้ระบุรายละเอียด 34.อาการปวดท้องอื่นๆ และอาการปวดท้องที่ไม่ระบุ 35.ข้ออักเสบหลายข้อ ที่มิได้ระบุรายละเอียด 36.ต่อมทอลซิลอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด 37.เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้ ที่มิได้ระบุรายละเอียด ปวดกล้ามเนื้อ 38.เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้หรือการเปลี่ยนอากาศ 39.ข้ออักเสบแบบอื่น

40.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 41.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด และ 42.การติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top