รัฐบาลเร่งส่งเสริมลงทุน-ขับเคลื่อนโครงการ EEC สู่เป้าหมายเศรษฐกิจแห่งอนาคต

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้วางวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ ผ่านการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งการส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 แล้ว ดังนี้

1. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) จำนวน 758 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 394,012 ล้านบาท และ 2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) จำนวน 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 553 ล้านบาท รวมไปถึงการจัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) จัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้มาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหอการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย

  • (1) อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยประเทศที่สนใจลงทุน คือ ญี่ปุ่น
  • (2) อุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศที่สนใจลงทุน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อิตาลี และสิงคโปร์
  • (3) อุตสาหกรรมด้านดิจิทัล ประเทศที่สนใจลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ทั้งนี้ มีบริษัทสัญชาติจีนซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปี 2565 และจะสามารถเดินสายการผลิตได้ภายในปี 2567

“ล่าสุดกับการลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดย สกพอ. และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายความร่วมมือด้านการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนญี่ปุ่น ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการผลิต ผ่านกลไกในการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ” นายอนุชา กล่าว

ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าโดยลำดับตามแผนที่กำหนด โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ การปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มีความคืบหน้า 91.86% โครงการงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น มีความคืบหน้า 74.31% โครงการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเย็น มีความคืบหน้า 90.46% และโครงการงานระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความคืบหน้า 8.17%

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC นั้น รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต (New Engine of Growth) โดยดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นระบบ และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังได้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว มุ่งให้เกิดประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนหรือชุมชนด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ต.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top