ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมปรับปรุงระดับ Turnover ratio ที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้นในดัชนี SET50 และดัชนี SET100 เริ่มต้นที่ 2% โดยเริ่มใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ รอบปลายปี 2565 ซึ่งจะมีการประกาศผลการคัดเลือกในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และใช้ในการคำนวณดัชนีในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สรุปผลการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง Turnover ratio สำหรับการคัดเลือกดัชนี SET50 / SET100 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากผู้ตอบแบบสอบถาม 32 ราย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน 12 ราย บริษัทหลักทรัพย์ 16 ราย ผู้ลงทุนทั่วไป 3 ราย และบริษัทจดทะเบียน 1 ราย พบว่าผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
สำหรับข้อเสนอการปรับปรุงของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การปรับระดับ Turnover ratio ที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้นในดัชนี SET50 และดัชนี SET100 ให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
- ใช้หลักเกณฑ์และแนวทางในปัจจุบัน โดยปรับลดระดับ Turnover ratio เริ่มต้นจากเดิมที่ 5% เป็น 2%
- พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดท ดัชนี และจะเริ่มใช้ในรอบคัดเลือก ธันวาคม 256
สรุปความเห็นที่ได้รับ
ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลสรุปได้ดังนี้
- การปรับลด Turnover Ratio สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป และสอดคล้องกับเกณฑ์ของดัชนีต่างประเทศ
- การปรับลด Turnover ratio จะช่วยให้หุ้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นฐานโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยมีโอกาสคงอยู่ในดัชนีขณะที่เกณฑ์การคัดเลือกอื่นๆ มีความเหมาะสมอยู่แล้ว
- การปรับลด Turnover ratio จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาวของดัชนีมีผลทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีมีเสถียรภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานในต่างประเทศ
- แนวทางดังกล่าวสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงบางส่วนจากหุ้นขนาดเล็กที่มีการซื้อขายสูง
- ส่วนผู้ให้ความเห็นบางรายไม่เห็นด้วย กับแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผล ดังนี้
- การปรับลด Turnover ratio อาจทำให้ดัชนีถูกควบคุมง่ายขึ้นจากกองทุนและนักลงทุนรายใหญ่ และอาจเอื้อประโยชน์ให้หุ้นบางกลุ่ม ทำให้หุ้นบางกลุ่มเสียโอกาสและประโยชน์ที่จะได้จากการเป็นหุ้น SET50-100
- ไม่เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์ Turnover ratioเนื่องจากสาเหตุที่ Turnover ต่ำอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น หุ้นขนาดใหญ่บางตัวมีราคาต่อหุ้นสูงทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่สนใจ, ผู้ลงทุนมักลงทุนระยะยาวในหุ้นใหญ่ที่มีอัตราปันผลสูง, มีหุ้นขนาดกลาง-เล็ก IPO เข้ามามากขึ้นทำให้เม็ดเงินลงทุนจากรายย่อยกระจายออกไปกว้างมากขึ้น เป็นต้น
- หุ้นบางตัวที่มี Turnover ไม่สูงมากนักแต่มีราคาที่ผันผวนมากอาจเข้ามาอยู่ในดัชนี SET50 ทำให้ดัชนีมีความผันผวนสูง
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
- ควรกำหนด Turnover ratio ขั้นต่ำ 1% ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของดัชนีต่างประเทศ
- ควรพิจารณาแนวทางการใช้ free float adjusted ในการคำนวณน้ำหนักหุ้นในดัชนีโดย free float ที่ใช้คำนวณควรเป็น free float ที่สามารถสะท้อนการกระจายการถือครองของผู้ลงทุนจริง เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้จริง
- ควรเพิ่มเกณฑ์สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนต่างชาติเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก และคำนวณน้ำหนักหุ้นในดัชนีด้วย โดยให้น้ำหนักในดัชนีน้อยสำหรับหุ้นที่มีผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมาก เพื่อสะท้อนสัดส่วนของหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนได้
- การคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าออกของดัชนี ควรยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยหลีกเลี่ยงการใช้ดุลยพินิจ
สำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำไปศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีต่อไป และหากมีข้อเสนอที่เกี่ยวกับดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหารือผู้เกี่ยวข้องและเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนการปรับปรุงใดๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 65)
Tags: SET100, SET50, Turnover ratio, ดัชนีตลาดหุ้นไทย, ตลท.