นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 รวมทั้งหมด 21 มาตรการ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ดังนี้
1. ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่
1.1 มาตรการพักชำระหนี้ โดยสามารถเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10-100% และกรณีอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบคงที่ สามารถขอลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
1.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยปลอดชำระค่างวด 3 งวดแรก สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นเงินทุนในการดำรงชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
1.3 มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในปีแรก สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิม หรือไม่เกิน 5 ล้านบาท
1.4 มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ย 3.49% เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับลูกค้าเดิม และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ 100% ของหลักประกัน
1.5 มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ย 3.99% เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติ
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่
2.1 มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ สูงสุด 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
2.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565-2566 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) หรือประมาณ 6.50% ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท
2.3 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต อัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือประมาณ 4.50% ต่อปี เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือน และทรัพย์สิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
3.1 มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย และอยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบลอยตัว
3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหลักประกัน สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่
3.3 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้
– กรณีหลักประกันเสียหาย ได้รับการปลอดดอกเบี้ย และเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
– กรณีได้รับผลกระทบต่อรายได้ ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
– กรณีเสียชีวิต หรือผู้กู้ หรือทายาทผ่อนชำระต่อ ได้รับอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ 0.01% ต่อปี
– กรณีหลักประกันได้รับความเสียหายทั้งหลัง ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ได้รับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ
3.4 มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับผู้มีกรมธรรม์ประกันภัย จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 65
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
4.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พักชำระเงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ธนาคารกำหนด
4.2 มาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 5.5% ต่อปี ปลอดระยะเวลาชำระเงินต้น 2 ปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 มาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565 ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อธุรกิจแบบมีกำหนดระยะเวลาของ ธอท. (Term Financing)
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65
6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
6.1 มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
6.2 มาตรการเพิ่มวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Prime Rate) หรือประมาณ 5.75% โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 3 เดือน วงเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
6.3 มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 50% เป็นระยะเวลา 1 ปี
6.4 มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน
ทั้งนี้ หากลูกค้าตามข้อ 6.3 และ 6.4 ชำระหนี้ได้ปกติ จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยคืน (Rebate) 2% ต่อปี โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
7.1 มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันของ บสย.ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 65
7.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยได้ต่ำสุด 0% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 65)
Tags: น้ำท่วม, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, สถาบันการเงินเฉพาะกิจ, อนุชา บูรพชัยศรี, อุทกภัย