3 แบงก์รัฐ ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบอุทกภัย บรรเทาความเดือดร้อนปชช.-เกษตรกร

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยต้องประสบกับพายุโนรูที่ส่งผลให้มีฝนตกหนัก และในบางพื้นที่มีฝนตกหนักมากทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัดนั้น ทางธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายการดูแลและช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีของรัฐบาล ดังนี้

1. ธนาคารออมสิน มีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10 – 100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ยังให้ประชาชนที่ประสบภัยกู้เงินฉุกเฉิน สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียง 0.85% ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก

นอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน โดยดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.49% (MRR-2.755%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4.99% ต่อปี (MRR-1.250%) และสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.99% (MRR-2.255%) ปีที่ 2 = 4.99% (MRR-1.255%) ปีที่ 3 เป็นต้นไป = 5.745% และ สินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี)

2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2565” กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ดังนี้

1) สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR -0.50%,MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถ “ขอลดเงินงวด 50%” จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2) สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR –3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

3) ลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

4) ลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

5) ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

6) ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความเสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดมาตรการลดภาระหนี้เดิมสำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธันวาคม 2565 ผ่านมาตรการ ดังนี้

1) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี

2) จ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ

3) ชำระดีมีคืน กรณีลูกค้ามาชำระหนี้ถึงกำหนด จะได้รับการคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงไม่เกิน 2,000 บาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ลูกค้า

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังจัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกร เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท

2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2

“จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของทั้ง 3 ธนาคารรัฐดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าของธนาคารได้ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชน เกษตรกร และลูกค้าธนาคาร มีความมั่นใจว่ารัฐบาลโดยสถาบันการเงินภาครัฐพร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบัน” นายอนุชา กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top