ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนี KR-ECI เดือนก.ย. 65 ทรงตัวจากเดือนก่อน สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ครัวเรือนเริ่มกลับมามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.ย. 65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวอยู่ที่ 33.9 และ 35.2 จาก 33.9 และ 35.7 ในเดือนส.ค. 65
ทั้งนี้ ครัวเรือนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าลดลงสอดคล้องกับดัชนีเงินเฟ้อในเดือนก.ย. 65 ที่ชะลอลงอยู่ที่ 6.41% หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่เริ่มชะลอทิศทางการปรับเพิ่มขึ้น เช่น แก๊สโซฮอล์โดยตลอดเดือนก.ย.65 ประเทศไทยยังมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ของดัชนีฯ พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับระดับอาหารเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 29.5 จาก 27.0 ในเดือนส.ค. 65 ซึ่งคาดว่าเกิดจากส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตมาสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น หลังต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ยังอยู่ในระดับสูง เช่น เนื้อหมู ราคาไข่ไก่ อีกทั้งอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกบางแหล่งมีน้ำท่วมขังจึงทำให้ราคาสินค้ากลุ่มผักสดสูงขึ้น
“สถานการณ์ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อระดับราคาสินค้าในหลายหมวด ยกเว้นในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มที่ครัวเรือนกลับมามีความกังวลเพิ่มมากขึ้น” บทวิเคราะห์ ระบุ
นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (9 เดือนแรกอยู่ที่ 6,018,943 คน) แต่ครัวเรือนกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินทางการเกษตร ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม ยังส่งผลให้ครัวเรือนวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้คาดการณ์ข้างหน้าลดลง (กังวลเพิ่มขึ้น) 18.8%
“สถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรต่างๆ ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และการจ้างงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม” บทวิเคราะห์ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยครัวเรือน 38.5% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่ง 54.1% เดินทางไป-กลับทำงานลำบากมากขึ้น ขณะที่ครัวเรือน 17.5% เผชิญความเสียหายในส่วนของที่อยู่อาศัย และ 16.1% ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วม พบว่า ครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นน้อยกว่า 1,000 บาทอยู่ที่ 34.3% ขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมากกว่า 5,001 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนอยู่ที่ 19.2%
อย่างไรก็ดี จากการประเมินจากผลสำรวจดังกล่าว คาดว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบเฉพาะหน้าของสถานการณ์น้ำท่วมต่อภาคครัวเรือนเบื้องต้นอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท (ไม่รวมภาคอุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นการคำนวณจากข้อมูลที่สำรวจในช่วงปลายเดือนก.ย. 65 ยังไม่ได้รวมผลกระทบที่จะเกิดเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ฝนที่ยังตกหนักในช่วงเดือนต.ค. 65
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมหนักยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ดังนั้น ผลกระทบและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าที่ได้สำรวจในช่วงปลายเดือนก.ย. 65 ในระยะข้างหน้าการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งในส่วนของรายได้ที่ทั้งภาคเกษตร/ พื้นที่ทำกิน (ค้าขายสินค้า) เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของค่าใช้จ่ายยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น การซ่อมแซมบ้านเรือน/ การเดินทางไปทำงานที่ยากลำบากขึ้น เป็นต้น ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่จะมาบรรเทาความเสียหาย (ล่าสุดจะเป็นในส่วนของธนาคารภาครัฐที่มีการลดดอกเบี้ย พักหนี้ หรือให้วงเงินกู้ฉุกเฉิน)
ในช่วงที่เหลือของปี 65 ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งระดับราคาสินค้าที่ยังจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตมาสู่บริโภค ระดับราคาพลังงานที่ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นในลักษณะขั้นบันได บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง การใช้จ่ายของครัวเรือนยังจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันจะสิ้นสุดลงใน 31 ต.ค. 65 อย่างไรก็ดี มาตรการการเดินทางข้ามประเทศในต่างประเทศที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง จะเข้ามาหนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้และการจ้างงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่อาจจะออกมาในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี เป็นต้น
“ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยทรงตัว สถานการณ์น้ำท่วมเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่จะส่งผลกระทบทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยต้องติดตามปัจจัยเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด” บทวิเคราะห์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 65)
Tags: ค่าครองชีพ, ค่าใช้จ่าย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจครัวเรือน