Zoom In: “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)” ทางเลือกปกป้องผลประโยชน์ผู้ลงทุน

จากหลายเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในกลุ่มผู้ลงทุนหรือผู้ที่ถูกฉ้อโกง ทำให้ “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในแง่ของการเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดำเนินคดีที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้เสียหายในการสู้คดีได้มากขึ้น

เมื่อหลักการของความยุติธรรม คือ คนทำผิดต้องโดนลงโทษและชดใช้เงินคืนให้กับผู้เสียหาย แต่ในความเป็นจริงอาจมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้ไม่เป็นไปตามนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือเรื่องทุนทรัพย์ในการดำเนินคดี หลายครั้งที่ผู้มีทุนทรัพย์น้อยยอมโดนเอาเปรียบไม่เอาความเนื่องจากมีทุนไม่เพียงพอ หรือเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่เสียไป

หากคดีที่กำลังเผชิญอยู่นั้น เราไม่ได้เป็นผู้เสียหายเพียงคนเดียว แต่มีผู้อื่นที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบเดียวกัน ทางเลือก “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งก็คือ การดำเนินคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการกระทำเดียวกัน ข้อกฎหมายเดียวกัน สำหรับประเทศไทยได้มีการนำการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาใช้ในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ บ้างแล้ว เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในคดีกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่มีคดีตัวอย่างที่เห็นผลสำเร็จแม้แต่คดีเดียว

วันนี้จึงอยากพานักลงทุนมารู้จักกับเรื่องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาดทุนไทยเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนจะใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิของตนเอง รวมทั้งเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน

 

*การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) คืออะไร?

 

ความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่ง “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” หมายถึง การดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องเพื่อให้มีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558

การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้

1. มีสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก คือ มีบุคคลจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย ทำให้การรวบรวมผู้เสียหายทั้งหมดเพื่อฟ้องร้องเป็นโจทก์ร่วมกันตามปกติ เกิดความไม่สะดวกหรือเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

2. ผู้เสียหายมีปัญหาข้อเท็จจริงเดียวกัน ปัญหาข้อกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะเหมือนกัน สมาชิกในกลุ่มต้องผูกพันร่วมกัน

3. ข้อเรียกร้องของโจทก์ มีลักษณะอย่างเดียวกันกับข้อเรียกร้องหรือปัญหาของกลุ่ม

4. โจทก์สามารถที่จะปกป้องประโยชน์ของกลุ่มได้อย่างเป็นธรรมและเพียงพอ ทั้งนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

 

*ประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มคืออะไร แล้วใครได้ประโยชน์?

 

ประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ถือเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เสียหายที่จำนวนทุนทรัพย์น้อยสามารถฟ้องคดีได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้เสียหายมากขึ้น เนื่องจากมีผู้เสียหายหลายคน นอกจากนี้ ยังเป็นการประหยัดเวลาทุกฝ่ายในการดำเนินคดีและพิจารณาคดีด้วย

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ยังทำให้คำตัดสินเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกคดี และจำนวนเงินที่มีของผู้กระทำความผิดไม่มีผลต่อการตัดสินใจฟ้องคดี รวมทั้งคำตัดสินของคดีก่อนไม่มีผลต่อการตัดสินใจฟ้องคดีด้วย

นายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินคดีหลักทรัพย์แบบกลุ่ม ว่า ผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายก็สมควรจะได้รับการเยียวยา แต่กลไกการฟ้องคดีแพ่งปกติ (Derivative Suit) ยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น การดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงน่าจะเป็นกลไกที่สามารถช่วยเยียวยาและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ลงทุน แต่ผ่านมาเกือบ 7 ปีแล้ว การดำเนินคดีแบบกลุ่มยังไม่แพร่หลาย เพราะยังประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ

“ผู้เสียหายสามารถฟ้องแพ่งปกติได้ แต่ถ้าเสียหายไม่มากอาจไม่คุ้มที่จะฟ้อง ดังนั้น การรวมตัวกันฟ้องแบบกลุ่มอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ถ้าถามว่าใครได้ประโยชน์จากการดำเนินคดีหลักทรัพย์แบบกลุ่ม คำตอบคือ ผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด” นายภูมิศิริ กล่าว

 

*ถ้าต้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มต้องทำอย่างไร?

 

ขั้นตอนในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม สามารถสรุปได้ดังนี้

1. เริ่มแรกโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มไปพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดี โดยโจทก์จะต้องแสดงเหตุผลที่สมควรที่จะให้ศาลอนุญาตการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

2. ศาลจะต้องตรวจคำฟ้องทั่วไปว่ามีเหตุขัดข้องที่จะรับไว้หรือไม่

3. หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะส่งหมายเรียกให้จำเลยแก้คดี และให้ถือว่าทนายความของโจทก์เป็นทนายความของกลุ่มด้วย นอกจากนี้ ศาลอาจจำกัดขอบเขตของกลุ่มบุคคลให้ชัดเจน และอาจระบุหรือกำหนดยกเว้นลักษณะของผู้ที่ไม่รวมอยู่ในกลุ่มก็ได้

4. กระบวนการเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่มตามขั้นตอน คือ ศาลจะส่งคำบอกกล่าวคำสั่งอนุญาตและสิทธิของสมาชิกกลุ่ม รวมทั้งการจำกัดสิทธิของสมาชิกกลุ่มที่ห้ามไม่ให้สมาชิกกลุ่มยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีการกำหนดคำนิยามแบบกว้างๆ ซึ่งอาจครอบคลุมโจทก์ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทั้งนี้ สามารถทำการ Opt-out หรือออกจากกลุ่มได้ โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบอกกล่าว (ไม่น้อยกว่า 45 วัน)

5. ศาลจะสั่งให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งโจทก์จะถอนคำฟ้องไม่ได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต โดยโจทก์จะต้องยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง และทำได้เมื่อศาลแจ้งเรื่องตามวิธีการเช่นเดียวกับที่การส่งคำบอกกล่าว หรือต้องกำหนดวันไม่น้อยกว่า 45 วัน ให้สมาชิกกลุ่มคัดค้าน

6. กรณีที่คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกัน หรือให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จะต้องยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง และทำได้เมื่อศาลแจ้งเรื่องตามวิธีการเช่นเดียวกับที่การส่งคำบอกกล่าวหรือต้องกำหนดวันไม่น้อยกว่า 45 วัน ให้สมาชิกกลุ่มคัดค้าน

7. นอกจากรายการตามคำพิพากษาในคดีสามัญแล้ว คำพิพากษาของคดีแบบกลุ่ม ยังต้องแสดงรายการอื่นๆ เช่น ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ ยังต้องแสดงรายการหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม รวมถึงจำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ เป็นต้น

 

*ตัวอย่างความผิดที่ผู้ลงทุนอาจฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม

 

1. การผิดสัญญา ผิดนัดชำระหนี้ในตราสารหนี้ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาจนก่อให้เกิดความเสียหาย

2. ความผิดที่ระบุสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฟ้องแทนผู้ลงทุน, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ฟ้องแทนผู้ลงทุน และผู้ลงทุนฟ้องเอง

3. ความผิดตามกฎหมายที่อาจฟ้องละเมิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับการทุจริต, ความผิดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต, ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล, ความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคา, ความผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน หรือความผิดเกี่ยวกับการครอบงำกิจการ

สำหรับตัวอย่างขอบเขตของกลุ่มผู้เสียหาย แบ่งตามประเภทความผิด

– การผิดสัญญา ช่วงเวลากลุ่ม (Class period) คือ ตั้งแต่เริ่มทำสัญญาเป็นต้นไป สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ถือสัญญา

– การเปิดเผยข้อมูล ช่วงเวลากลุ่ม คือ ตั้งแต่เกิดการกระทำความผิดจนถึงเวลาที่ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์

– การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ช่วงเวลากลุ่ม คือ ตั้งแต่มีการขายหลักทรัพย์เป็นต้นไป สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ซื้อหลักทรัพย์

– การทุจริตของกรรมการผู้บริหาร ช่วงเวลากลุ่ม คือ ตั้งแต่มีการกระทำทุจริตจนถึงเวลาที่การกระทำทุจริตเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ถือหลักทรัพย์

– การสร้างราคา ช่วงเวลากลุ่ม คือ ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างราคาเป็นต้นไปจนราคาของหลักทรัพย์กลับสู่ระดับปกติ สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์

– การใช้ข้อมูลภายใน ช่วงเวลากลุ่ม คือ ตั้งแต่เริ่มมีการใช้ข้อมูลภายในจนข้อมูลภายในนั้นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์

– การครอบงำกิจการ ช่วงเวลากลุ่ม คือ ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีข้อเสนอเกี่ยวกับการครอบงำกิจการจนถึงช่วงที่การครอบงำกิจการสิ้นสุด สมาชิกกลุ่ม คือ ผู้ถือหลักทรัพย์

ทั้งนี้ คำว่า “หลักทรัพย์” ครอบคลุมทั้งตั๋วเงินคลัง, พันธบัตร, ตั๋วเงิน, หุ้น, หุ้นกู้, หน่วยลงทุน ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวม, ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น, ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้, ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหน่วยลงทุน และตราสารอื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

*ปัญหาของการดำเนินคดีแบบกลุ่มในไทยคืออะไร?

 

การดำเนินคดีแบบกลุ่มในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยมีให้เห็นในการดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องที่เกี่ยวกับผู้บริโภคอยู่บ้าง แต่การดำเนินคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ปัจจุบันยังไม่มีกรณีตัวอย่างแม้แต่กรณีเดียว เนื่องจากมีปัจจัยที่มีผลต่อการฟ้องคดีแบบกลุ่ม คือ แรงจูงใจของทนายความในการเข้าเป็นตัวแทนฟ้องคดี ทั้งเรื่องรางวัลทนายความที่ศาลของไทยกำหนดรางวัลทนายความไว้สูงสุดที่ 30% แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาศาลให้รางวัลเพียง 1-3% เท่านั้น จึงยังไม่จูงใจทนายเท่าที่ควร ซึ่งมีเรื่องของทุนสำรองจ่ายในการฟ้องคดีด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องความเชี่ยวชาญของทนายความในการดำเนินคดีกลุ่ม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ก็ต้องการทนายความที่มีทั้งความถนัดในเรื่องหลักทรัพย์และเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม นอกจากนี้ ทนายยังต้องใช้ทั้งเวลาและเงินในรายละเอียดของคดีค่อนข้างมาก ซึ่งก็โยงกลับไปที่ปัญหาของเรื่องเงินทุน

ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีหลักทรัพย์แบบกลุ่ม เช่น ทนายความไม่สนใจรับว่าความคดีแบบกลุ่ม, ไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางประสานงานและรวบรวมข้อมูลให้แก่ผู้เสียหาย, สมาชิกกลุ่มอาจลดจำนวนลดลงระหว่างการดำเนินคดี, ยังไม่มีกระบวนการคัดกรองและยืนยันตัวตนของสมาชิกกลุ่มที่ชัดเจนรัดกุม, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อาจจะเข้ามีอิทธิพลและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นรายย่อย, คดีกลุ่มเป็นคดีที่มีคำทุนทรัพย์สูง โจทก์จึงมีหน้าที่วางค่าธรรมเนียมที่สูง และภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นไม่สามารถเป็นผู้แทนในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มได้

ทางฝั่งของโจทก์ ยังมีปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจของผู้เสียหายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีการให้ความรู้เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีด้วย เนื่องจากหากอยากได้ข้อมูลในภาพรวมต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานเท่านั้น

 

*สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย พร้อมให้ความช่วยเหลือการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

 

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานวิจัย เรื่อง “โครงการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม” ผลสรุป คือ ในต่างประเทศมีประเทศที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มได้รับความนิยม เช่น สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, แคนาดา และมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้รับความนิยม จึงแนะนำให้ใช้รูปแบบการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุน โดยทางเลือกที่ดำเนินการได้เร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย คือ ให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยช่วยดำเนินงาน

นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้รับทุนสนับสนุนการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เมื่อเดือนก.ค. 2565 โดยมีบทบาทของศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุน คือ เผยแพร่ความรู้ และข้อมูลในการดำเนินคดีหลักทรัพย์แบบกลุ่ม, จัดทำบัญชีรายชื่อทนายความที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนที่ต้องการดำเนินคดีหลักทรัพย์แบบกลุ่ม ในด้านการให้คำแนะนำประสานงาน โดยขอบเขตครอบคลุมหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เช่น หุ้น, หุ้นกู้, ตั๋วแลกเงิน ไม่รวมสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะไม่เข้าเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องร้อง

“การแนะนำและให้ความช่วยเหลือของสมาคมฯ ต้องอยู่ในกรอบที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบกับต้องดูทรัพยากรที่มี ทั้งเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงปัญหาของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และพร้อมร่วมกันแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้แนวโน้มการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีเพิ่มขึ้น” รศ.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

 

หมายเหตุ : ข้อมูลจากทีมนักวิจัยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top