นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/65 ได้ผ่านจุดที่ถูกแรงกดดันสูงสุดจากปัจจัยภายนอกไปแล้ว เริ่มจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ตลาดตอบรับมานานกว่า 7 เดือน หากความเสี่ยงถูกจำกัดเฉพาะในพื้นที่ยูเครนและไม่นำสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ระหว่างกันผลกระทบมายังตลาดหุ้นจะไม่มาก ภาวะการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อในหลายประเทศมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดหลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับลงใกล้เคียงกับช่วงต้นปี ทำให้แรงกดดันต่อการใช้นโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่างๆลดลง
การดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดเชิงรุกที่เข้าใหล้ช่วงสุดท้าย โดยเฉพาะฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ตลาดคาดช่วงที่เหลือของปีจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1% และปีหน้าอีก 0.25% ก่อนที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทิศทางเศรษฐกิจหลายประเทศที่ชะลอลง โดยสหรัฐฯ ที่เกิดภาวะ Technical Recession ไปแล้ว และเศรษฐกิจ อังกฤษ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ชะลอลงหลัง GDP ไตรมาส 2/65 ติดลบ แต่อย่างไรก็ตามการทยอยปรับลดคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจต่างๆสะท้อนถึงการรับรู้ของตลาดไปในระดับหนึ่ง
ส่วนปัจจัยในประเทศที่ยังอยู่ในโหมดฟื้นตัวตามหลังการเปิดประเทศที่ได้แรงหนุนจากภาคการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนมากกว่าการเยียวยาหลังผ่านช่วงโควิด-19
ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่ขยายตัวได้ดี โดยฝ่ายวิจัยประเมิน EPS65F ที่ 96.1 บาท/หุ้น เติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ EPS ในปี 66 ที่ 101.1 บาท/หุ้น เติบโต 5% จากปี 65 ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยฯแต่ยังดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าดอกเบี้ยฯ ณ สิ้นปีที่ 1.25% เทียบกับสหรัฐฯ 4.25% ด้านทิศทางค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4/65 เชื่อว่าจะชะลอการอ่อนค่าจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงตามราคาพลังงานที่ปรับลงซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของการขาดดุลการค้า เช่นเดียวกับดุลบริการที่จะดีขึ้นตามตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเข้าสู่ High Season
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทที่มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสวนกระแสโลก ขณะที่ความเสี่ยงการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจะเป็นปัจจัยดึงดูดกระแสเงินทุนไหลเข้าหนุนให้ดัชนี SET ช่วงไตรมาส 4/65 ขยับขึ้น โดยคงเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปีไว้ที่ 1,730 จุด หรือคิดเป็นระดับ Market Earning Yield Gap ที่ 4.3% มากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 4.2%
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้น Domestic ที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากการเปิดประเทศ และไม่ได้รับผลกระทบต่อความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ BBL ที่รับปัจจัยหน๊นเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น และเป็นธนาคารที่มีความสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในพอร์ตได้ในสัดส่วนที่สูงกว่า 90% จะเห็นจาก BBL เป็นธนาคารแรกที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และปรับขึ้นค่อนข้างสูง ทำให้เป็นธนาคารที่ยังเห็นผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมถึง ASK ที่ได้รับการปรับเครดิตเรตติ้งขึ้น ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบสทนที่สูงขึ้นได้
ส่วนหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เป็นหุ้น ADVANC แม้ว่าผลการดำเนินจะยังประคองตัวได้ แต่หากมองในศักยภาพระยะต่อไปหลังควบรวมกับทริปเปิ้ลทรี บรอดแบนด์ จะเข้ามาเสริมศักยภาพการขยายฐานลูกค้าไฟเบอร์ และขึ้นเป็นอันดับ และ HMPRO จะได้รับประโยชน์จากช่วงหลังน้ำท่วมที่จะต้องมีการซ่อมแซมบ้านเรือน รวมถึงเป็นหนึ่งในหุ้น Laggard ที่ราคาหุ้นยังค่อนทรงตัว
นอกจากนี่ยังมีหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวในไตรมาส 4/65 ได้แก่ BEM ที่ยังเห็นจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ CENTEL เป็นอีกหนึ่งหุ้นที่ได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้เลือก GULF จากศักยภาพของโรงไฟฟ้าที่ยังมีการทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) อีกกว่า 4,000 เมกะวัตต์ รวมถึงการกระจายในธุรกิจอื่นๆที่จะเข้ามาต่อไอดการขยายธุรกิจ
นางสาวอภิชญา ไชยฤกษ์ ฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นต่างประเทศถือว่ามีความผันผวนสูง เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์อื่นๆในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางด้านพลังงานในฝั่งยุโรป สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจว่าจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า ทำให้มีการลดความเสี่ยงของพอร์ต ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลง เช่น ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับลดลงกว่า 23% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ได้รับผลกระทบมากสุดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็ปรับตัวลดลงกว่า 31% เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดียังมีหุ้นบางกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด คือ หุ้นในกลุ่ม Defensive อย่าง Healthcare สะท้อนผ่านดัชนี Health Care Select Sector ที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลงไปเพียง 12% เท่านั้นถือว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดโดยภาพรวม
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือช่วงที่มีความผันผวนสูง ทางเลือกในการเพิ่มน้ำหนักไปในหุ้น Defensive ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงได้ เป็นผลมาจากค่าเบต้า (ค่าความเสี่ยงเมื่อเทียบกับตลาด) ที่ต่ำ ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้น Defensive จะมีค่าเบต้าที่น้อยกว่า 1 ตัวอย่างเช่น หากตลาดปรับตัวลง 2% หุ้น Defensive มักมีแนวโน้มจะปรับตัวลงน้อยกว่า 2% โดยหุ้น Defensive หมายถึงหุ้นที่บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีรายได้อย่างมั่นคง จากความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้มีเสถียรภาพเมื่อต้องเผชิญกับช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง อ้างอิงจากข้อมูลของ Refinitiv IBES ในอดีต พบว่าในช่วงปี 50-52 ที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย กำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 ลดลง 9 ไตรมาสติดต่อกัน แต่กลุ่ม Healthcare ยังสามารถสร้างกำไรเติบโตได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
ตัวอย่างหุ้นในกลุ่ม Healthcare ฝั่งสหรัฐฯ ได้แก่ United Health (UNH US) เป็นบริษัทประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯหากวัดโดยมูลค่าตลาดและรายได้ ประกอบธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ ประกันสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพสำหรับองค์กร รวมถึงธุรกิจรักษาโรคทั้งในรูปแบบคลินิกและออนไลน์และระบบ Software ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ 2.7% สูงกว่าตลาดหุ้นโดยภาพรวมที่ดัชนี S&P 500 ปรับลงถึง 23%
หรืออีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ล้อไปกับกลุ่ม Healthcare คือการลงทุนผ่าน ETF ได้แก่ Health Care Select Sector SPDR Fund (XLV US) ซึ่งกระจายการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ สัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผู้ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวน 66 บริษัท เช่น United Health (UNH US) Johnson & Johnson (JNJ US) Pfizer Inc.(PFE US) เป็นต้น แม้ผลตอบแทนปรับตัวลดลง 12% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังทำผลตอบแทนชนะตลาดโดยรวมได้
นายภาดร สุขสวัสดิ์ ฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4/65 เริ่มมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูง จะเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้ธนาคารกลางหลักของโลกยังคงต้องมีท่าทีเข้มงวดทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป
ดังนั้นคำแนะนำการลงทุนในไตรมาส 4 นี้ ควรมองหากลุ่มธุรกิจที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ มีการจ่ายปันผลสูง มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งมักปรับตัวลงน้อยหรือปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่ม Healthcare, Consumer Staple และ Telecommunication โดยสำหรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นแนะนำให้ลงทุนหุ้นต่างประเทศในสัดส่วน 30% และหุ้นไทยราว 35% ส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้ 15% สินทรัพย์ทางเลือก 10% เละเงินสด 10%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 65)
Tags: ASPS, SET, SET Index, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เอเซีย พลัส