นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทมองโอกาสขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะมาจากการประกาศแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ของไทยและเวียดนาม ซึ่งทำให้บริษัทวางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้เติบโตเป็น 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 68 โดยจะมาจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในไทยและเวียดนาม
สำหรับการขยายธุรกิจในประเทศ บริษัทก็มองโอกาสเข้าประมูลโครงการของหน่วยงานภาครัฐ จากล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP) ช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม ราว 1,500 เมกะวัตต์, ไบโอแก๊ส ราว 335 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ติดแบตเตอรี่ อีก 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียวอีก 2,368 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 เมกะวัตต์
ขณะที่ในประเทศเวียดนามที่ SUPER มีฐานกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก ก็คาดว่าจะประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (PDP8) ออกมาในช่วงปลายเดือน ก.ย.หรือต้น ต.ค.65 คาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมบนชายฝั่ง (Onshore) เพิ่ม 15,582 เมกะวัตต์ และพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore) เพิ่ม 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นแผนระยะ 5-7 ปี
“เรามองว่าวันนี้ทั้งในประเทศไทย และเวียดนามยังมีโอกาสอีกเยอะมาก เราก็น่าจะคงการเติบโตในสองประเทศนี้เป็นหลักก่อน เพราะโครงการแต่ละโครงการต้องใช้เงินจำนวนมาก”
นายจอมทรัพย์ กล่าว
สำหรับการลงทุนในเวียดนามนั้น สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม บริษัทได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์รายสำคัญ คือ AC ENERGY VIETNAM INVESTMENTS PTE. LTD. (ACEV) บริษัทลงทุนชั้นนำทางด้านธุรกิจพลังงานทดแทนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ โดย ACEV จะเข้ามาถือหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 836 เมกะวัตต์ คาดว่าจะปิดดีลช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ ทำให้บริษัทจะได้รับเงินจากการขายหุ้นเข้ามาราว 165 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปรองรับการลงทุนในอนาคตต่อไป
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า การจับมือกับ ACEV ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนามเท่านั้น แต่จะร่วมกันต่อยอดไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอื่น ๆ ในอาเซียน (ยกเว้นไทย) ผ่านบริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้นภายหลังจากปิดดีลแรก โดยบริษัทร่วมทุนนี้ SUPER จะถือหุ้น 51% และ ACEV ถือ 49% เนื่องจากบริษัทมองว่ายังมีโอกาสอีกมากในการเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอาเซียน โดยมีความสนใจทั้งในกัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
SUPER วางงบลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่างๆ ในช่วงแรกไว้ราว 24,000 ล้านบาท โดยจะมาจากเงินทุนหมุนเวียน 25% (ในส่วนนี้มีเงินที่ได้จากการขายหุ้นโซลาร์ฟาร์มเวียดนามเข้าไปแล้ว) และเงินกู้จากสถาบันการเงินอีก 75% ซึ่งจะใช้รองรับแผนเข้าประมูลโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทมีเป้าหมายทยอยเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องปีละราว 300-500 เมกะวัตต์ ตลอดช่วง 3 ปีจากนี้ หรือภายใน 3 ปีจะสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์
นายจอมทรัพย์ ระบุว่า ปัจจุบัน SUPER มีกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1,600 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในมือในรูปแบบ PPA อยู่ที่ 400 เมกะวัตต์ โดยรวมทั้งสิ้นมีกำลังผลิตแล้วที่ 2,000 เมกะวัตต์ ขณะที่มีแผนขยายเพิ่มเติมอีก 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ SUPER จะมีกำลังการผลิตเติบโตเป็น 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 68
ดังนั้น จากกำลังการผลิตที่มีอยู่และแผนการขยายกำลังการผลิตตามเป้าหมายดังกล่าว จะสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทในปีนี้จะเติบโตแตะ 10,000 ล้านบาท และในปี 66 เติบโตแตะ 13,000 ล้านบาท และในปี 67 โตแตะ 15,000 ล้านบาท
ด้านภาพรวมการดำเนินธุรกิจในครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทเตรียมเปิด COD เพิ่มเติมอีก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid ปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญา PPA ขนาด 16 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้ง 49 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่างโซลาร์ฟาร์ม 49 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 136 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และไบโอแก๊ส อีก 1 เมกะวัตต์ คาดเริ่ม COD ปลายปีนี้
และมีโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ จังหวัดหนองคาย อีกราว 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ปลายเดือนต.ค.หรือต้นพ.ย.นี้ รวมถึงโครงการโซลาร์รูฟท็อฟสัญญา Private PPA เพื่อขายไฟฟ้าให้มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ขนาด 15 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาเพิ่มรายได้ให้กับผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังนี้
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าปีนี้จะสามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนามเข้ามา ซึ่งนโยบายการจ่ายปันผลก็จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดบริษัท) และผู้ถือหุ้นว่าจะพิจารณาอนุมัติการจ่ายปันผลเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร
ด้วยปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการ COD ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ธุรกิจในเวียดนามก็เติบโตสูง และมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เข้ามาถือหุ้นร่วมกันเพื่อร่วมลงทุนในอนาคต ก็เชื่อว่าหากมองโอกาสและเชิงพื้นฐาน ในแง่ของหุ้น SUPER ก็ยังมีการเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ ทำให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตามพื้นฐาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 65)
Tags: INTERVIEW, SUPER, จอมทรัพย์ โลจายะ, ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น, พลังงาน, หุ้นไทย, ไฟฟ้า