ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) ร่วมผลักดันวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” ให้เป็นหมวดวิชาศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2566 ภายใต้โครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา Social Enterprise (SE) @General Education (GE) เพื่อปูพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมให้นักศึกษา ปลูกฝังความเข้าใจในคุณค่าของความยั่งยืน สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยในมิติของการพัฒนาและดูแลสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้และศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่ว่าจะเป็น startup SME รวมถึงผู้ประกอบการทางสังคมหรือ social enterprise สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG4: Quality Education เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพ
โดยในปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคสังคม ร่วมยกร่างวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” บรรจุให้เป็นหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้กับคนรุ่นใหม่ในระบบการเรียนรู้ สร้างจุดตั้งต้นความคิดในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลูกฝังทัศนคติให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานของการประกอบธุรกิจ สร้างศักยภาพการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต
นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” ถือเป็นอีกหนึ่งวิชาสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะเยาวชนคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่ส่งเสริมด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และจริยธรรม เนื้อหาวิชาจัดทำเป็น 2 หน่วยกิต 15 สัปดาห์ เน้นการเรียนการสอนแบบ active learning ประกอบด้วยหัวข้อหลักได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความยั่งยืน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม การออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การวัดผลลัพธ์ทางสังคมเบื้องต้น และการสร้างแผนธุรกิจเบื้องต้น โดยวิชาผู้ประกอบการเพื่อสังคมจะนำไปเป็นรายวิชาต้นแบบในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศได้นำไปใช้หรือปรับใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2566 ต่อไป
ภายใต้ความร่วมมือนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำคู่มือและสื่อประกอบการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปปรับใช้และถ่ายทอดความรู้ต่อ รวมทั้งจัดอบรมเนื้อหาวิชาและเทคนิคการถ่ายทอดที่เน้นการสอนแบบลงมือปฏิบัติ ให้นักศึกษาได้คิดและนำเสนอในรูปแบบกลุ่มหรือ Team base teaching แก่อาจารย์ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ ในโครงการ Train the Trainer เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย โดยมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเดินสายให้การส่งเสริมการออกแบบหลักสูตร และเรียนรู้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2566
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัวความร่วมมือโครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา Social Enterprise (SE) @General Education (GE) ในงานปาฐกถาพิเศษและเสวนา “ปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อไทยก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง” ซึ่งมีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการสนับสนุนการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นสมัยใหม่ในระบบอุดมศึกษา ที่นำไปสู่การสร้างบัณฑิตและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยมหาวิทยาลัยที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.setsocialimpact.com/impact-program/se-ge/
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 65)
Tags: การศึกษา, จงรัก วัชรินทร์รัตน์, ตลท., ผู้ประกอบการทางสังคม, ภากร ปีตธวัชชัย, สถาบันอุดมศึกษา