อินโดนีเซียจ่อลดพึ่งพาดอลลาร์ หลังค่าเงินรูเปียห์ร่วงต่ำสุดในรอบ 2 ปี

นายเอดิ ซูเซียนโต หัวหน้าฝ่ายบริหารการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เปิดเผยในวันนี้ (29 ก.ย.) ว่า BI กำลังแสวงหาหนทางเพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยวางแผนที่จะอนุญาตให้มีการทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบไม่มีการส่งมอบเงินเมื่อครบกำหนด (NDF) ในสกุลเงินต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยคำสัมภาษณ์ของนายซูเซียนโตว่า BI อาจเสนอให้มีการทำ NDF ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า พร้อมเสริมว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียกำลังพยายามทำข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับเกาหลีใต้และออสเตรเลีย ควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีการบรรลุข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้กับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย

“แนวคิดริเริ่มในการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นค่อนข้างใหม่ แต่เราเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญในการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น” นายซูเซียนโตกล่าว พร้อมยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐกับสกุลเงินรูเปียห์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีข้อตกลงกับมาเลเซีย ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งส่งเสริมให้การทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์แตะระดับ 2.8 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2564 โดยก่อนหน้านี้ BI คาดการณ์ว่า การทำธุรกรรมรูปแบบดังกล่าวจะเติบโตขึ้น 10% ในปีนี้

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้สนับสนุนหลักให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่น เพื่อทำธุรกรรมการค้าและการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่น ๆ โดยระบุว่า วิธีนี้จะทำให้การแปลงสกุลเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยนโยบายดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้น หลังค่าเงินรูเปียห์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในสัปดาห์นี้

“ขณะนี้ เรามุ่งความสนใจไปยังเครื่องมือที่สามารถตอบสนองความคาดหวังของตลาดได้ เนื่องจากความผันผวนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีสาเหตุมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน” นายซูเซียนโตกล่าว พร้อมยอมรับว่า การแสดงความเห็นเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top