นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และ ที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 เป็นเติบโต 3.2% จากเดิมที่ 3.1% โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถโตได้ราว 4% จากปีก่อน และมองการเติบโตปี 66 ที่ 3.4%
ทั้งนี้มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 แม้ใกล้จะฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด แต่ขาดการกระจายตัวและอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ มีเพียงกลุ่มท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนปัญหาเงินเฟ้อยังรุนแรงต่อ เพราะแม้เงินเฟ้อจะลดลงแต่ราคาสินค้าและบริการเริ่มขยับขึ้นหลังผู้ผลิตอั้นต้นทุนต่อไปไม่ไหว โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 4/65 มี 6 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะฉุดให้การเติบโตต่ำกว่าคาด ได้แก่
1. เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หลังเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง และร้านค้าปลีกมีรายได้ดีขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวได้ตามความต้องการสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตร แม้จะมีสัญญาณขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิตรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์บ้างเล็กน้อย ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศน่าจะเร่งได้ครึ่งปีหลัง ตามการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอาเซียน และการเร่งลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย
สำหรับภาพการฟื้นตัว จำกัดอยู่ในกลุ่มที่แข็งแกร่งและได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวแค่เพียงส่วนเดียวของประเทศไทยเท่านั้น โดยเศรษฐกิจไทยมีฝาแฝดที่ตัวติดกันเหมือนแฝดสยาม โดยมีกลุ่มที่อ่อนแอที่มักถูกลืม เช่น ภาคเกษตรที่แม้รายได้จะสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตที่ออกมามากขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตขยับขึ้นจนประทบกำไร เมืองรองการท่องเที่ยวยังอ่อนแอ อสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดสต๊อกสูงกว่าความต้องการ อีกทั้งกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะไม่ยั่งยืน เพราะภาคส่วนที่อ่อนแอจะดึงให้ภาคส่วนที่แข็งแรงทรุดลงได้
2. แม้ว่าเงินเฟ้อของประเทศไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่จะเริ่มเห็นการส่งผ่านของราสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมากขึ้นในไตรมาส 4/65 โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมกำลังฟื้นตัว และ กำลังซื้อดีขึ้นบ้าง ส่งผลให้ผู้ผลิตเริ่มขยับราคาสินค้าและบริการได้มากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2% และ 2.9% ในปี 66 โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่เงินเฟ้อสูงกว่ากรอบบนของนโยบายการเงินที่ 1-3% จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากปลายปีนี้ที่ 1.75% ไปจนถึงกลางปีหน้าที่ 2.5% และน่าจะคงไว้ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี แต่หากเงินเฟ้อยังสูง อาจทำให้กนง.พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด และทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
“ในการประชุม กนง. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมิณว่า กนง. จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ซึ่งแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่ 0.25% เพราะต้องการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม”นายอมรเทพ กล่าว
3. เสียโอกาสการลงทุน ไทยอาจเสียโอกาสการลงทุนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การเปลี่ยนรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปน่าจะมีขึ้นภายใน 9 เดือนนี้ แต่นักลงทุนจะรอความชัดเจนในนโยบายของรัฐบาลใหม่ก่อนเข้าลงทุนโครงการใหญ่ นอกจากนี้ไทยอาจจะเสียโอกาสบรรลุข้อตกลงการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญหากไม่มีสภาฯ และจะยิ่งทำให้ไทยขาดจุดแข็งในการดึงนักดูดต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามหากเร่งขจัดความไม่แน่นอนประเทศไทยจะมีโอกาสในการลงทุนที่ดีขึ้น
“ด้านการเมืองไทย อาจเห็นรัฐบาลยุบสภาฯ ในช่วงไตรมาส 4/65 ถึงต้นปี 66 มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่เตรียมย้ายฐานมาไทย และการลงทุนภาครัฐโครงการใหม่อาจชะลอออกไปก่อนมีรัฐบาลใหม่”
4. วิกฤติพลังงานในยุโรป ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยุโรปที่อาจจะนำไปสู่การจำกัดการส่งก๊าซในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ที่จะทำให้หลายประเทศในยุโรปเผชิญปัญหาวิกฤติพลังงานและหากลากยาวจะกระทบต่อการบริโภคต่ำลง ภาคการผลิตหยุดชะงัก นำไปสู่ปัญหาจนเศรษฐกิจยุโรปถดถอย จะกระทบเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้าและการท่องที่ยว ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
5. สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย ที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเผชิญภาวะถดถอย GDP ติดลบในช่วงไตรมาส 4/65 โดยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะกดดันเงินเฟ้อให้ปรับตัวลดลง โดยคาดว่า ณ สิ้นปีดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4.50% เป็นอย่างน้อย จนมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าเฟดจะประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพด้านราคา แต่จากสงครามเงินเฟ้อจะส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่งล้มลง คนสหรัฐหลายล้านคนตกงาน การบริโภคชะลอแรง กดดันเศรษฐกิจให้เติบโตช้าลง จะเข้ามากระทบการส่งออกของไทยให้ติดลบปีหน้า คาดว่าการส่งออกสินค้าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะหดตัว 0.6% ในปี 66 จากปีนี้ที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 7.1%
“ปัจจัยที่กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว คือ วิกฤติพลังงานในยุโรปที่กระทบการบริโภคและการลงทุนหากยุโรปมีปัญหากับรัสเซีย และปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวแรงหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ”
6. เงินหยวนอ่อนค่า ประเด็นสำคัญคือ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐและจีนอาจกว้างขึ้นในอนาคต เพราะสหรัฐกำลังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สวนทางกับจีนที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเงินเฟ้อของจีนยังต่ำมีผลให้เงินหยวนอ่อนค่าเทียบดอลลาร์ได้อีก และส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินบาทที่จะอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับเงินหยวนได้
สำหรับค่าเงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 37.00-37.50 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 38.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี หากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐกว้างขึ้น ประกอบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นยังอยู่ในระดับสูง จะดึงเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทยไปพักในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น
โดยเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงได้อีกในช่วงต้นปี 66 จากปัญหาความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และการอ่อนค่าของเงินหยวน ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 66 ก่อนที่ค่าเงินบาทจะกลับมาแตะระดับ 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 66
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)
Tags: CIMBT, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, อมรเทพ จาวะลา, เศรษฐกิจไทย