นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20-21 กันยายนนี้ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75-1% ก็คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปที่ระดับ 37.30-37.50 บาท/ดอลลาร์ได้ และกดให้ดันเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปแล้วเกือบ 10% เป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี ทำให้เงินทุนไหลออกจากการเร่งนำเข้าทองคำ จากการที่ราคาทองคำอ่อนตัวลงช่วงก่อนหน้าเป็นปัจจัยหนึ่งในการกดดันเงินบาท
นักลงทุนต่างชาติยังทะยอยเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของไทย ทั้งหุ้น และตราสารหนี้ การเทขายสินทรัพย์ทางการเงินของนักลงทุนต่างชาติ อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยยังปรับฐานลงไปอีกระยะหนึ่ง เงินบาทและเงินหยวนนั้นมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) เป็นบวก คือ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันในระดับสูง ดังนั้น เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างมากไปทดสอบแนวต้านทางด้านจิตวิทยาที่ 7 หยวน/ดอลลาร์ ย่อมส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกัน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 28 กันยายนนี้ มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมและเล็กเพิ่มเติม ทำให้ต้นทุนทางการเงิน ภาระหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ภาระหนี้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลงสำหรับกิจการที่ยอดขายยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ หาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ คือ วันที่ 28 กันยายน และวันที่ 30 พฤศจิกายน จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปลายปีขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปลายปีจะอยู่ที่ระดับ 4% ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทยจะกว้างประมาณ 2.75% ย่อมกระตุ้นให้เงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นไหลออกบ้าง แต่ไม่ควรวิตกกังวลและไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับ 1.25% จะมีผลต่อการจัดการเงินเฟ้อได้ไม่มาก และจะไม่ช่วยเปลี่ยนทิศทางของการอ่อนค่าของเงินบาทแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี หาก กนง. ไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่มีคาดการณ์กันไว้ จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีก เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันจะช่วยกระตุ้นการส่งออก และเป็นผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างมากในช่วงเวลาที่มีการเปิดประเทศเต็มที่ โดยคาดว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกือบ 10 ล้านคนในปีนี้ กระแสเงินไหลเข้าจากภาคท่องเที่ยว การเกินดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเม็ดลงทุนไหลเข้าในตลาดการเงินจะทำให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปีและต้นปีหน้าที่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ได้ รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจากที่ขาดดุลจะพลิกกลับมาเกินดุล โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 น่าจะเป็นเกินดุลได้ในระดับ 1.5-1.8% ต่อจีดีพี กลไกดอกเบี้ยมีผลน้อยมากต่อการพลิกกลับมาแข็งค่าของเงินบาท และการจัดการกับเงินเฟ้อ
นายอนุสรณ์ มองว่า การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นในตลาดการเงิน และเงินลงทุนต่างชาติระยะยาว ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันเป็นผลจากการตัดสินเรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการตัดสินใจดังกล่าวจะสะท้อนว่าประเทศไทยมีระบบนิติรัฐนิติธรรมหรือไม่ มี Rule of Law หรือไม่ด้วย
“Rule of Law เป็น Soft Infrastructure ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย เป็นความเข้มแข็งในเชิงสถาบันที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจภาคการลงทุนขับเคลื่อนได้ บางครั้งมากกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทางกายภาพ (Hard Infrastructure) ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลลงทุน” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ ยังแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ว่า รัฐบาลหรือพรรคการเมืองไม่ควรดำเนินนโยบายประชานิยมแบบขาดความรับผิดชอบ ควรหลีกเลี่ยงมาตรการต่างๆ ในระยะสั้นเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนและฐานะการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว นโยบายสาธารณะต้องยึดประโยชน์ระยะยาว การแก้ พ.ร.บ.กยศ. ฐานคิดและหลักการของนโยบายต้องชัด มองผลดีผลเสียรอบด้าน หากผู้กู้กองทุน กยศ.ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายค่าปรับตามข้อเสนอของเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ พ.ร.บ.กยศ. จะทำให้กองทุน กยศ. สิ้นสภาพการเป็นกองทุนหมุนเวียนได้ในเวลาไม่เกิน 5-6 ปีอย่างแน่นอน คือ ต้องปิดกองทุนไปหากรัฐบาลไม่ใส่เงินงบประมาณเข้ามาเพิ่มให้เพียงพอ ทำให้คนรุ่นหลังขาดโอกาสทางการศึกษาได้
ดังนั้น หากต้องการให้กองทุน กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล ก็จำเป็นต้องมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่สามารถคิดในอัตราต่ำพิเศษเพื่อช่วยเหลือ และคงต้องมีค่าปรับเพื่อรักษาวินัยทางการเงิน หากแก้ไขกฎหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดการกองทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเลย ก็ต้องให้กองทุนได้รับงบประมาณอุดหนุนทุกปี อันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมของ กองทุน กยศ.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 65)
Tags: lifestyle, ขึ้นดอกเบี้ย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินเฟ้อ, เฟด, เศรษฐกิจไทย