ครม.มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผล 1 ต.ค.เป็นต้นไป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. ได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่อัตรา 8-22 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท/วัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท/วัน

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว จะประกอบด้วย 9 อัตรา คือ

  1. ค่าแรง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
  2. ค่าแรง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  3. ค่าแรง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
  4. ค่าแรง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
  5. ค่าแรง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
  6. ค่าแรง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
  7. ค่าแรง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
  8. ค่าแรง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
  9. ค่าแรง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกระทรวงแรงงานเสนอ โดยสัดส่วนการขึ้นค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% กว่าๆ ซึ่งในอดีตการปรับค่าแรงเฉลี่ยประมาณ 1-2% แต่การปรับค่าแรงครั้งนี้ ถือเป็นการรวบยอดมากถึง 5% ตามภาวะเงินเฟ้อ จากที่ปรับครั้งล่าสุดเมื่อ 1 ม.ค.63 และหลังจากนั้นไม่ได้มีการปรับค่าแรง

นายสุชาติ กล่าวว่า ฐานการขึ้นค่าแรง 5% เป็นสิ่งที่นายจ้างรับได้ ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่มากเกินไป และหากลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็อยู่รอด

“การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ย หรือพลังงาน รัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยการลดค่าครองชีพ มันก็จะช่วยกัน…ผมเชื่อ นายจ้างทุกคนรับได้ เพราะขึ้น 5% เอง”นายสุชาติ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังได้ขอให้สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือนายจ้าง โดยการลดเงินสมทบ 2% จากเดิม 5% เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมยืนยันว่า จะไม่กระทบเงินกองทุนชราภาพ เนื่องจากจะมีการใช้มติ ครม. โยกเงินอีกส่วนมาทดแทนจำนวนเงินที่หายไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top