PoliticalView: อ่านเกมเอกสาร “หลุด” ปม 8 ปี จับตาจุดเปลี่ยนทางการเมืองไม่ว่าออกเบอร์ไหน

กลายเป็นประเด็นที่สร้างเสียงวิจารณ์อย่างหนักหลังจากเกิดเหตุเอกสาร “หลุด” คำชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เริ่มจากเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และการเผยแพร่รายงานการประชุมของกรธ.ครั้งที่ 500 โดยอ้างความเห็นที่หักล้างกันเองของนายมีชัย ต่อมาล่าสุดยังมีเอกสารคำชี้แจงจากทีมกฎหมายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลุดตามออกมา หลายฝ่ายมองว่าเป็นการโยนหินถามทางเพื่อซาวด์เสียงกระแสสังคม

เนื้อหาจากคำชี้แจงของทั้ง 3 ที่ออกมาสรุปเนื้อหาได้ ดังนี้

 

*เอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายมีชัย มีเนื้อหาสรุปว่า:

 

ผลของมาตรา 264 คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 260 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ใช้บังคับ…และระยะเวลาตาม มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

 

*บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 ที่ถูกหยิบยกมา:

 

ความเห็นของนายมีชัย และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ในฐานะรองประธาน กรธ. ที่มีการหารือถึงการนับวาระนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมครั้งนั้น

– นายมีชัย ระบุว่า “เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตราร 263 วรรคสามมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”

การบัญญัติในลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

– นายสุพจน์ ระบุว่า “หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รับธรรมนูญ 2560 ประกาศบังคับใช้ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

 

*เอกสารคำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์:

 

– บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ไม่ใช่เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

– ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีก่อนปี 2560 ถือเป็นรัฐมนตรีนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ การนับวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ต้องนับจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้

– การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตั้งแต่ 24 ส.ค.57 ไม่สามารถนับรวมเวลากับการดำรงตำแหน่งปัจจุบัน

– การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ได้มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย 61 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย. 61 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 13 ก.ย 65 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 14 ก.ย 65

 

*จับตาจุดเปลี่ยนทางการเมือง

 

มุมมองนักวิชาการต่อประเด็นนี้ นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า กรณีเอกสารประกอบคดีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ หลุดออกมาสู่สาธารณชนนั้น เชื่อว่าเป็นการจงใจเพื่อหวังผลให้มีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเชื่อว่าหากคำวินิจฉัยให้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ 2 ปี หรือ 4 ปีก็จะลดกระแสต่อต้านจากกลุ่มที่ออกมาระบุว่าครบวาระ 8 ปีเมื่อวันที่ 24 ส.ค.65

“เอกสารที่หลุดออกมาน่าจะเป็นเรื่องจงใจมากกว่าเผลอ ซึ่งก็ต้องดูว่าใครได้ประโยชน์ เชื่อว่าเป็นการหวังผล เป็นสงครามข้อมูลที่ทำให้เห็นธงคำตอบมากกว่าการโยนหินถามทาง ถ้าผลออกมาเป็นคุณก็ไม่เซอไพรส์ จะเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป” นายสติธร กล่าว

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะสามารถออกมาได้ทั้ง 3 ทาง คือ

1.เริ่มนับตั้งแต่ปี 57 ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 24 ส.ค.65

2.เริ่มนับตั้งแต่ปี 60 ที่จะทำให้เหลือวาระการดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี

3.เริ่มนับตั้งแต่ปี 62 ทำให้มีเวลาที่จะดำรงตำแหน่งไปอีก 4 ปี

ในกรณีที่คำวินิจฉัยเป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเหลือเวลา 2 ปี หรือ 4 ปี ก็จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคตที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นการสร้างความหวังให้กับกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า แต่การหาเสียงคงเหนื่อย เพราะถึงแม้จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก 2 ปีได้ก็จะทำได้เพียงแค่ครึ่งเทอมเท่านั้น ขณะเดียวกันแคนดิเดทจากพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน ซึ่งล่าสุดพรรคสร้างอนาคตไทยก็เปิดตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกมาแล้ว และเป็นบุคคลที่น่าจับตาสำหรับการโดดลงสนามในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

“หากเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แล้วมีเวลาอีก 2 ปี เมื่อครบกำหนดก็เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 2 ปี คงไม่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร” นายสติธร กล่าว

แต่หากมีคำวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถดำรงตำแหน่งได้อีก 4 ปี พรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องปรับกลยุทธ์ในการต่อสู้ในเลือกตั้งในรูปแบบอื่น

“คำวินิจฉัยแต่ละแนวทางจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง พรรคการเมืองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีแต่งตัวรอให้ประชาชนไปเลือกตั้ง” นายสติธร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top