นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดยภาคประชาชนว่า รู้สึกผิดหวังกับผลการลงมติของรัฐสภาในครั้งนี้ และในเมื่อไม่สามารถตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ได้ทันการเลือกตั้งที่จะมาถึง พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้ ส.ว. ไม่นำตัวเองเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง แต่ควรเคารพและยึดตามเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ที่จะถูกสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง
“จุดยืนที่พรรคก้าวไกลประกาศต่อประชาชนมาตลอด คือการแก้ไขวิกฤติทางการเมืองครั้งนี้ ต้องไม่ใช่แค่ปะผุ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแล้วจะเพียงพอ แต่ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” นายพิธา กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างฉบับใหม่ผ่านช่องทางรัฐสภา เจอทางตันทุกครั้ง ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าต้องหา “ไพ่ใบใหม่” ที่ยังไม่มีใครเคยใช้ ด้วยการเปิดตัวแคมเปญชื่อ “RESET ประเทศไทย เลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” โดยจะอาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มาตรา 9 (5) เชิญชวนประชาชนอย่างน้อย 50,000 คน ร่วมลงชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชน 1 คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?” โดยจะเริ่มรณรงค์ทันที จนกว่าได้รายชื่อครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด
“เพื่อประหยัดงบประมาณ และเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมาถึง ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรัฐบาล แต่คือการเปลี่ยนกติกาประเทศ เราจะเสนอให้จัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว
พร้อมมั่นใจว่า วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และไม่ควรมีเหตุผลใดที่จะทำให้ถูกคัดค้าน เนื่องจาก
1. เป็นหนทางที่จะนำพาประเทศออกจากวิกฤตทางการเมือง นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริง โดยไม่ต้องง้อเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.
2. เป็นแนวทางที่รัฐบาลปฏิเสธยาก เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เป็นสิ่งที่ ส.ส. รัฐบาล และ ส.ว. เคยสนับสนุน และการจัดประชามติก็เป็นไปตามความเห็นของ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. ที่เคยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่าต้องจัดทำประชามติก่อนเสนอเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่สภาในขั้นรับหลักการ
3. เป็นการทวงถามและเรียกความรับผิดชอบโดยตรงจากนายกฯ และ ครม. ว่าจริงใจแค่ไหนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากที่เคยประกาศว่าเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
4. เป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนโดยตรง เพราะหากมีการจัดทำประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง และประชาชนเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากขั้วไหน ก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งของประชาชนที่แสดงออกผ่านผลประชามติ
5. ช่วยประหยัดงบประมาณและทรัพยากรของประเทศ เพราะจัดการเลือกตั้งและจัดประชามติในวันเดียวกันได้เลย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 65)
Tags: การเลือกตั้ง, พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, รัฐสภา, ร่างรัฐธรรมนูญ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ