สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดราย นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
ก.ล.ต.ได้ติดตามสภาพการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือเรียกว่า Bitkub Exchange ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้แจ้งสารสนเทศผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.53 น. ว่า บล.ไทยพาณิชย์ จะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BCGH) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของบริษัท BO ส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจและคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน
เหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาเหรียญ KUB ที่เสนอขายโดยบริษัท BBT ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทบิทคับและมีความเกี่ยวพันกัน อันเป็นข้อมูลภายในเกี่ยวกับบริษัท BBT โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ราคาซื้อขายเหรียญ KUB ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ โดยราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 99.99 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 101 จาก 49.53 บาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลซื้อขายเหรียญ KUB โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับเหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าว ผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า กลุ่มธนาคาร SCB และบริษัท BCGH ได้เริ่มเจรจาการซื้อขายหุ้นของบริษัท BO ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และในระหว่างวันที่ 4 กันยายน – 2 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าว นายสำเร็จ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัท BBT ได้มีพฤติกรรมการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1,994,966.56 บาท ซึ่งต่างจากพฤติกรรมก่อนเกิดข้อมูลภายในดังกล่าว
การกระทำของนายสำเร็จเป็นความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 42(1) ประกอบมาตรา 43(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสำเร็จ โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,530,383 บาท รวมทั้งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานทั้ง 2 แห่งที่ได้มีการหารือแนวทางการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 65)
Tags: Bitkub, Cryptocurrency, KUB, ก.ล.ต., คริปโทเคอร์เรนซี, บิทคับ