รัฐบาลอินเดียกำลังหารือเกี่ยวกับการจำกัดการส่งออกข้าวหัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเกือบ 20% ของการส่งออกข้าวของประเทศ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีแนวโน้มทำให้ตลาดพืชผลทางการเกษตรโลกหยุดชะงักเพิ่มเติม ทั้งยั้งซ้ำเติมวิกฤตความอดอยากในหลายประเทศ แต่ก็ยังดีกว่าจำกัดการส่งออกข้าวทั้งหมด
ทั้งนี้ อินเดียส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกจึงสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้คนหลายพันล้านรายที่พึ่งพาข้าวเป็นอาหารหลัก
อินเดียเคยระงับการส่งออกข้าวมาแล้วในช่วงปี 2550-2551 ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นอย่างเวียดนามระงับตามไปด้วย ทำให้เกิดแรงซื้อจากความตื่นตระหนก ผลักดันให้ราคาข้าวพุ่งทะลุ 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งมากกว่าระดับปัจจุบันถึง 2 เท่า
นายปีเตอร์ ทิมเมอร์ ศาสตราจารย์กิตติมาศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเคยทำงานร่วมกับรัฐบาลต่าง ๆ ในเอเชียในการออกนโยบายเพื่อรับมือกับวิกฤตข้างต้นให้ความเห็นว่า การจำกัดการส่งออกข้าวหักในครั้งนี้ ไม่มีแนวโน้มก่อให้เกิดวิกฤตเช่นเดียวกับเมื่อปี 2550-2551 แต่อย่างใด
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หลังจากรัสเซียบุกเข้าโจมตียูเครน นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ประกาศว่า อินเดียพร้อมที่จะ “จัดสรรอาหารให้กับผู้คนทั่วโลก” แต่กลับคำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อมาด้วยการระงับการส่งออกข้าวสาลีเพื่อรักษาอุปทานอาหารในประเทศ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากบรรดารัฐมนตรีเกษตรของกลุ่ม G7 ซึ่งกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวทำให้วิกฤตอาหารของโลกแย่ลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 65)
Tags: ส่งออกข้าว, อินเดีย