การท่าเรือฯ-ขนส่งทางบก จับมือบูรณาการข้อมูลด้านขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพ-แก้รถติด

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อบูรณาการข้อมูลสารสนเทศร่วมกันผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และ ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในการบริหารจัดการยานพาหนะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนด

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพด้านข้อมูลและเกิดประโยชนสูงสุดแก่ผู้ประกอบการด้านการขนส่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการขนส่งระหว่าง กทท. และ ขบ. โดย กทท. จะนำข้อมูลจาก ขบ. ไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ข้อมูลทางทะเบียนยานพาหนะ ไปใช้ในการดำเนินการในระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ที่พัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนงานพิธีการส่งออกร่วมกับกรมศุลกากร และข้อมูลใบอนุญาตขับรถ ให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS CODE)

โดยข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ วิธีการรับและส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ข้อมูลจากขบ.ทำให้กทท.ทราบน้ำหนักรถ เมื่อชั่งน้ำหนักรวม จะสามารถคำนวณน้ำหนักสินค้าได้อย่างแม่นยำ นอกจากข้อมูลจะเชื่อมโยงกับกรมศุลกากรด้วยจะทำให้การทำงานมีความสะดวก รวดเร็ว แม่นยำและลดเวลาในการตรวจสอบลดลงจากการตรวจเดิมแบบ Manual ซึ่งจะใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาที / คัน คาดว่าจะลดลงอย่างน้อย 1 นาที/ คัน ทำให้การบริหารจัดการรถที่เข้าเขตท่าเรือคล่องตัวมีประสิทธิภาพแก้ปัญหารถติดในเขตท่าเรือและมีความปลอดภัย ทั้งตัวรถและสินค้าและมีการเก็บข้อมูลพนักงานขับรถอีกด้วย”

นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ กทท.ยังมีระบบ Truck Queue เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาจราจรในเขตท่าเรือ โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งลงทะเบียนการเข้าใช้บริการ เพราะสามารถเลือกช่วงเวลาในการเข้าใช้บริการได้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันเริ่มใช้งานแล้ว มีรถลงทะเบียนเข้าใช้ ที่ท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 20,000 คันต่อเดือน จากปริมาณรถทั้งหมดประมาณ 350,000 คัน /เดือน ซึ่งจากความร่วมมือกับขบ.จะนำไปต่อยอดกับระบบ Truck Queue ที่จะใช้เต็มรูปแบบในเดือนพ.ย. 2565 นี้ และทำให้เจ้าของรถบรรทุกใช้ระบบ Truck Queue เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตหากข้อมูลเชื่อมโยงกันทั้งหมดและผู้ประกอบการลงทะเบียน Truck Queue ทำให้การใช้บริการมีการจัดสรรเวลา หรือ Time Sharing ได้ตลอด 24 ชม.จะสามารถบริหารจราจรทั้งในเขตท่าเรือและรอบนอกได้อย่างบูรณาการและคล่องตัว

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ขณะนี้กทท.อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ขนาด 90 ไร่ บริเวณนอกรั้วศุลากากร เป็นจุดพักคอยสำหรับรถบรรทุก หรือ Track Parking โดยกำลังพิจารณาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในพื้นที่ เช่น ที่มีบริการที่พัก ร้านอาหาร เติมน้ำมัน ฯลฯ สำหรับรถบรรทุกที่เข้ามารอเวลาส่งสินค้าหรือรับสินค้า โดยคาดว่าจะให้เอกชนเข้ามาลงทุน ในรูปแบบการเช่าพื้นที่แบบมีเงื่อนไข และแบ่งผลประโยชน์รายได้ให้กทท.จะสรุปรายละเอียดภายใน 1-2 เดือนนี้ จากนั้นจะออกทีโออาร์ เพื่อหาเอกชนเข้ามาลงทุนภายในปลายปี 2565 และเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนในปี 2566 เป็นการตอบโจทย์การทำงาน และนำพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาจราจรในเขตท่าเรือแหลมฉบัง

“กทท. ต้องเร่งให้มีการพัฒนาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินงานด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงข่ายข้อมูลภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง และการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาร่วมกันที่จะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในอนาคต เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ World Class Gateway Port ต่อไป”

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงประสานข้อมูลระหว่าง ขบ. กับ กทท. โดย ขบ.จะร่วมมือในการพัฒนาเว็บเซอร์วิสให้ กทท. เชื่อมฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบข้อมูลทะเบียนยานพาหนะตามภารกิจจของกทท. ซึ่ง ขบ.มีข้อมูลจดทะเบียนรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปจำนวน 400,000 คันทั่วประเทศ ซึ่ง ขบ.จะมีข้อมูลรายละเอียด ตัวรถ ผู้ประกอบการ รวมไปถึงน้ำหนักไม่ว่าจะเห็นหัวลาก หรือน้ำหนักรถรวม ซึ่งงกทท. สามารถนำข้อมูลพื้นฐานนี้ไปใช้ประโยชน์ คือ การคำนวณน้ำหนักสินค้าที่บรรทุกเข้ามาได้โดยหักกับน้ำหนักรถที่มีในฐานข้อมูล ขบ. ซึ่งจะถูกต้องแม่นยำมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้คนคำนวณลดการใช้ดุลพินิจ จะเกิดประโยชน์ทั้งในภาคราชการและเป็นการอำนวยความสะดวกการให้บริการประชาชน และผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบการขนส่งสินค้าและโลจิตติกส์ในท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง และประเทศไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top