นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเข้ามาเป็นวาระลับ
“หลังจากผ่านครม.ไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดูตามขั้นตอน จากนั้นจึงเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วจึงมีผล ซึ่งในช่วงระหว่างขั้นตอนการพิจารณานี้ กองทุนน้ำมันฯ ก็คงยังไม่กล้ากู้ เพราะต้องรอขั้นตอนสภาก่อน โดยได้คุยกันก่อนแล้วว่า ไม่ต้องรีบร้อนกู้ และไม่จำเป็นต้องใช้มากขนาดนั้น ส่วนวงเงินเท่าไรนั้น ขอให้กระทรวงการคลังชี้แจงดีกว่า” นายวิษณุ กล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และขอให้สอบถามจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ส่วนเรื่องนี้จะเป็นภาระงบประมาณแค่ไหนนั้น รมว.คลัง ย้ำว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณา
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และให้ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นหน่วยงานในการหาแหล่งเงินกู้และกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน โดยขั้นตอนหลังจากผ่านครม.ไปแล้ว จะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วจึงมีผลบังคับใช้ได้
สำหรับการขอกู้เงินกับทางธนาคารกรุงไทย (KTB) หรือธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปว่าธนาคารใดจะปล่อยกู้ เนื่องจากทางธนาคารต้องการรอ พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังมาค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนฯ อยู่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางกระทรวงพลังงานจะออกมาแถลงความชัดเจนให้ประชาชนได้ทราบในเร็วๆ นี้
ในส่วนเงินที่ทางบมจ. ปตท. (PTT) มอบให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกรณีพิเศษ เดือนละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการเปิดบัญชีสำหรับให้ ปตท. นำส่งเงินเข้ามาอย่างถูกต้อง คาดว่าภายในเดือน ส.ค. 65 นี้ ปตท.จะเริ่มส่งเงิน 1,000 ล้านบาทแรกเข้ามาได้ โดยเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้ประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเงินที่ได้รับจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 14 ส.ค. 65 กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบรวม 117,394 ล้านบาท จากการนำเงินไปชดเชยราคาดีเซล ทำให้ฝั่งบัญชีน้ำมันติดลบรวม 76,518 ล้านบาท และนำไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จนทำให้บัญชี LPG ติดลบรวม 40,876 ล้านบาท
ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 16 ส.ค. 65 ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุค่าการตลาดดีเซลระหว่างวันที่ 1-16 ส.ค. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.88 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดดีเซลของผู้ค้าน้ำมัน ณ วันที่ 16 ส.ค. 2565 อยู่ที่ 1.44 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันเบนซินอยู่ระหว่าง 2-3 บาทต่อลิตร
ส่วนราคาน้ำมันตลาดโลก ณ วันที่ 16 ส.ค. 65 เวลาประมาณ 15.00 น. ยังทรงตัวต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระดับ 96.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 87.97 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 93.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน, กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, วิษณุ เครืองาม