นายเชตัน อาห์ยา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่รายอื่น ๆ เช่น สหรัฐและยุโรป
“หากคุณดูข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อในเอเชียได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ คุณจะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขาลง”
“อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในเอเชียได้พุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 5.5% และได้ปรับตัวลงไปแล้วประมาณ 0.5% จากระดับสูงสุดดังกล่าว เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐซึ่งพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 9% และเทียบกับเงินเฟ้อในยุโรปซึ่งอยู่ที่ระดับ 8.5-9%” นายอาห์ยาให้สัมภาษณ์ในรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี
นายอาห์ยากล่าวว่า มีสัญญาณเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียอยู่ในระดับที่ร้อนแรงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
“สิ่งที่ผมสามารถอธิบายถึงสถานะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียได้ก็คือ … เศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในช่วงกลางของวงจรการฟื้นตัว ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่จะอธิบายว่าทำไมเราจึงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ภายใต้การควบคุม และธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น”
นายอาห์ยากล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% และส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี นายอายาห์กล่าวว่า “แม้ภาวะเงินเฟ้อในเอเชียจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แต่ก็คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของเอเชียยังคงอ่อนแอ สิ่งที่เราต้องพิจารณาในขณะนี้ก็คือ ปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกในเอเชียปรับตัวลงไปแล้วประมาณ 1% – 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเมื่อ 12 เดือนที่แล้วตัวเลขดังกล่าวเคยขยายตัวแข็งแกร่งถึง 10% และเราคาดว่าแนวโน้มการส่งออกของเอเชียในวันข้างหน้าจะยังไม่สดใสมากนัก”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 65)
Tags: ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์, ภาวะเงินเฟ้อ, เชตัน อาห์ยา, เอเชีย