Central Bank Digital Currency (CBDC) คือ สกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่าและเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ การออกเหรียญดิจิทัลก็เพื่อประโยชน์ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายในวงกว้าง และเพื่อให้การทำธุรกรรม รวมถึงการโอนเงินทางดิจิทัลกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดาย
เมื่อสองถึงสามปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน โดยได้เริ่มมีการชำระเงินในระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น การชำระเงินแบบไม่สัมผัส, Mobile Banking และการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าผ่านระบบ E-Commerce ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การพัฒนาของ Cryptocurrencies, Tokens และระบบที่รองรับการใช้งาน Digital Assets ต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์กรภาคเอกชน ก็ส่งผลให้ธนาคารกลางใน 98 ประเทศทั่วโลก (คิดเป็นมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั่วโลก) ให้ความสนใจและกำลังเริ่มพัฒนา CBDC ภายในประเทศของตน
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มี 11 ประเทศที่เริ่มใช้ CBDC อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ได้แก่ ไนจีเรีย บาฮามาส จาเมกา และ 8 ประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน โดยมี 14 ประเทศที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองใช้งานจริง CBDC เช่น จีน สวีเดน แอฟริกาใต้ สิงค์โปร เป็นต้น และอีก 73 ประเทศที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนา CBDC (ข้อมูลจาก Atlantic Council: CBDC Tracker)
ส่วนเงินบาทดิจิทัล (Digital Baht) ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) เริ่มดำเนินการศึกษาและพัฒนาบาทดิจิทัลมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2561 โดยเงินบาทดิจิทัลมีลักษณะเป็น Token Based ซึ่งต่างจาก CBDC ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาเป็น Account Based และ CBDC ในประเทศจีนที่เป็นการรวมกันระหว่าง Token Based และ Account Based
แม้การทำธุรกรรมโดยใช้เงินบาทดิจิทัลจะอยู่บนระบบ Blockchain แต่บาทดิจิทัลไม่ใช่ Cryptocurrency โดยมีความแตกต่างกันหลัก ๆ เช่น (1) เงินบาทดิจิทัล มีลักษณะเป็น Fiat Money คือถูกออกแบบมาให้ใช้แทนเงินสด ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนชำระค่าสินค้าและบริการ มีมูลค่า 1 หน่วยเท่ากับ 1 บาท แต่ Cryptocurrency สามารถใช้แลกเปลี่ยนได้ในวงจำกัด (โดยกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนชำระค่าสินค้าและบริการได้เป็นการทั่วไป) นอกจากนี้ Cryptocurrency ยังถูกนำมาใช้สำหรับการเก็งกำไร เนื่องจากมีความผันผวนที่สูงมากขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อขายในตลาด
และ (2) เงินบาทดิจิทัล ถูกสร้างขึ้นมาโดย ธปท.และจะถูกควบคุมโดย ธปท.จึงยังคงมีลักษณะเป็นระบบการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized) โดยหน่วยงานของรัฐจะรับรู้ถึงข้อมูลของผู้ใช้และข้อมูลบัญชี ต่างจาก Cryptocurrency ที่ถูกสร้างขึ้นโดยภาคเอกชนและถูกใช้งานโดยไม่มีใครควบคุม แต่ผู้ใช้ทุกคนในระบบจะทำการตรวจสอบกันเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) และไม่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ
เงินบาทดิจิทัล สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ Wholesale CBDC เงินบาทดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน และ Retail CBDC สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน
ตั้งแต่ปี 2561 ธปท.ได้เริ่มศึกษาและพัฒนาเงินบาทดิจิทัลในระดับ Wholesale CBDC ภายใต้โครงการ “อินทนนท์” ซึ่งได้ทดสอบสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบัน ธปท.ได้ขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนาไปสู่ระดับ Retail CBDC หรือภาคประชาชน โดยจะเริ่มให้มีการทดลองใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot Project) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อทดสอบการใช้งานพื้นฐานเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ ทดสอบรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย เช่น การนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ในพื้นที่เฉพาะและในกลุ่มผู้ใช้งานที่จำกัด และทดสอบความสามารถด้านนวัตกรรม ความสามารถในการเขียนโปรแกรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC เพื่อบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น
ขณะนี้ จึงได้มีการจัดทำโครงการ “CBDC Hackathon” เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use Cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม-12 กันยายน 2565 ดังรายละเอียดปรากฎในเว็บไซต์ของ ธปท.
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญาและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 65)
Tags: CBDC, Cryptocurrency, ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, บาทดิจิทัล